รายงานการประชุมการจัดทำแผนที่ทางสังคม จ.สงขลา กลุ่มองค์กรการเงิน

by ชาคริต โภชะเรือง @27 ก.ค. 53 12:44 ( IP : 202...245 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 400x300 pixel , 65,572 bytes.

รายงานการประชุมการจัดทำแผนที่ทางสังคม จ.สงขลา กลุ่มองค์กรการเงิน

วันที่ 21 กค.53 เวลา 13.00-16.30 น. ณ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา

ผู้เข้าร่วม

  • ประธานและกรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา
  • คุณบุญโรจน์ นักธุรกิจ
  • กลุ่มออมทรัพย์ บ้านไร่อ้อย
  • เลขาสมาคมออมทรัพย์เพื่อการผลิตจ.สงขลา
  • ครูชบ ยอดแก้ว
  • ลุงเคล้า แก้วเพชร
  • สงขลามีเดียฟอรั่ม
  • ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.บางเหรียง
  • เลขาสมาพันธ์กลุ่มออมทรัพย์ อ.จะนะ
  • ผญ.ม.6 บ่อแดง สทิงพระ
  • กองทุนสวัสดิการ เชิงแส/ชิงโค
  • ลุงลัภย์ หนูประดิษฐ์
  • สหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่
  • กองทุนสวัสดิการชุมชน ต.เขาพระ

สรุปการประชุม

เริ่มประชุมเวลา 13.30 น. ที่ประชุมได้มีการแนะนำตัวเอง และคุณชิต สง่ากุลพงศ์ ในฐานะประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวแนะนำมูลนิธิและชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุม เพื่อจัดทำแผนที่ทางสังคมในจังหวัดสงขลา ในส่วนขององค์กรการเงิน

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมนำเสนอสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเงินในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีข้อสรุปสำคัญดังนี้

  • ความน่าเชื่อถือขององค์กรการเงินโดยภาพรวมขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคลที่เป็นแกนนำและระบบการบริหารจัดการของกลุ่ม
  • กลุ่มออมทรัพย์บางองค์กรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนถูกกฎหมาย และมีความหลากหลายในการดำเนินงาน ทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากในแง่การรวมตัวเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกัน ภาพรวมระดับจังหวัด องค์กรการเงินแต่ละกลุ่มไม่สามารถช่วยเหลือกันได้
  • สหกรณ์ปัจจุบันมีรูปแบบของตัวเอง 7 รูปแบบ ภาพรวมของสมาชิกสะท้อนให้เห็นว่าคนจนยังมีมาก ความเข้มแข็งของสหกรณ์ยังอยู่ที่นโยบายรัฐแต่ละยุคสมัย ที่ยังไม่มีความจริงใจในการสนับสนุน กฎระเบียบหลายตัวมุ่งเน้นป้องกันการทุจริตมิได้หนุนเสริมความเข้มแข็งหากแต่เป็นการยับยั้งการเจริญเติบโตของระบบสหกรณ์โดยภาพรวม ที่สำคัญคนของหน่วยงานรัฐยังไม่รู้จัก ปัจจุบันภาวะการเงินเริ่มคล่องตัว เดินได้ เงินฝากเริ่มมีมากต้องหากทางจำกัด ส่งผลต่อเงินเฟ้อเริ่มมาก สหรกรณ์การเกษตรหาดใหญ่มีเงินเกือบ 800 ล้านบาท มีการให้กู้ต่อเดือนประมาณ 30 ล้าน โดยสรุปสถานการณ์ของสหกรณ์จะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้านในแต่ละยุคสมัยว่าจะมีเงินในมือมากหรือน้อย
  • หลายพื้นที่เริ่มมีปัญหาเงินฝากล้นระบบ เช่น ที่นาหว้ามีเงินในระบบ 56 ล้าน มีเงินเข้าทุกเดือน เงินเหลือมาก ไม่กล้าลงทุน ไม่สันทัดในการทำธุรกิจ หรือมีการทำวิสาหกิจชุมชน หากทว่าการลงทุนยังเป็นเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เงินกลุ่ม/องค์กร
  • ปัจจุบันมีกองทุนชาวบ้านจ.สงขลา สมาชิก 3000 กว่าคน ทำหน้าที่เป็นกองทุนหมุนเวียนให้กับสมาชิก
  • กลุ่มการเงินยังมีพฤติกรรมฉ้อ โกง ยักยอก
  • การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ทำให้เกิดหนี้
  • มูลนิธิศุภนิมิตมีการจัดตั้งสหกรณ์ของตนเอง มีบทเรียนในแง่ที่ว่าการที่มูลนิธิสนับสนุนเงินในช่วงก่อตั้งให้ ทำให้ชุมชนไม่เกิดสำนึกรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมว่าเป็นเงินของตน ทำให้เกิดปัญหาความสามารถในการรับมูลนิธิไปดำเนินการต่อ
  • มีปัญหาการบริหารจัดการขาดการตรวจสอบ การพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการ
  • ผู้นำ(นโยบายของรัฐ)มีการทำงานที่นับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
  • กลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนและของรัฐถือระเบียบต่างกัน ส่งผลต่อการทำธุรกรรมการเงิน กลุ่มออมทรัพย์ระเบียบกฏเกณฑ์ยืดหยุ่นมากกว่า บางแห่งทำตามข้อตกลงหรือกติกาของกลุ่ม เช่น ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน
  • การทำสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท บริหารโดยมูลนิธิครูชบ-ปราณี ยอดแก้วและสมาคมฯใช้รูปแบบบริหารแบบรถไฟ มีหัวรถจักรและตู้พ่วง มีสมาชิก 1 แสนกว่าคน เกิดรูปแบบกลุ่มสวัสดิการหลากหลาย
  • สหกรณ์บริการมอ. มีเงิน 1 หมื่นล้านบาท มองว่าสงขลามีศักยภาพสูง เรามีตัวแบบสหกรณ์และการออมทรัพย์ที่ดี เป็นเมืองหลวงด้านสวัสดิการชุมชน แค่รูปแบบสหกรณ์เรามีทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ครู สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ
  • สังคมเราเป็นทุนบริโภค แสวงหากำไรสูงสุด การทำองค์กรการเงินเพื่อชุมชนไม่ควรคิดแบบธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นผลกำไร ขณะเดียวกัน ต้นทุนสหกรณ์มีมากกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่สหกรณ์ไม่เสียภาษี ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันก็ประสบปัญหา เงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 เงินฝากร้อยละ 1
  • ที่มาของการทำสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท พัฒนามาจากรูปแบบของต.น้ำขาว โดยครูชบ ยอดแก้ว รัฐสมทบ สร้างฐานให้ชุมชน
  • ปี 2517 ประเทศไทยเริ่มเกิดแนวคิดการทำออมทรัพย์ โดยกรมพัฒนาชุมชน โดยประยุกต์จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือการทำธนาคารหมู่บ้าน
  • ปี 2526 ครูชบ ยอดแก้ว เริ่มทำเรื่องพัฒนาคน โดยเริ่มที่น้ำขาว 11 หมู่บ้าน มุ่งเน้นการพัฒนาร่างกาย ให้มีสุขภาพดี ปราศจากโลก มีอนามัยสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ มีจิตสำนึกประชาธิปไตย และมีการพัฒนาจิตใจ รักษาสัตย์ จริงใจกับตนเอง ข่มใจ ถ่อมใจ อดทน อดกลั้น อดออม ละวางความชั่ว ละประโยชน์ส่วนตน เพื่อส่วนร่วม
  • ใช้เงินเป็นเครื่องมือเพื่อจัดสวัสดิการ โดยพบความต้องการของชาวบ้านว่าอยากได้สวัสดิการเหมือนกับข้าราชการ จึงริเริ่มทำสวัสดิการของชาวบ้าน อุดช่องว่างดังกล่าว ในช่วงเริ่มแรกคนไม่เชื่อ มีเพียง 30% ของคนในชุมชนเท่านั้น โดยตั้งกรรมการบริหารเอง ไม่เสียดอกเบี้ย แต่เรียกว่าเป็นการเสียค่าบำรุง โดยแบ่งปันประโยชน์ ครึ่งหนึ่งปันผลตามหลักสหกรณ์(ตามหุ้น) ที่เหลือนำไปทำสวัสดิการ ในการรักษาพยาบาล เมื่อสามารถทำได้จริง ทำให้เกิดความเชื่อถือ
  • ปี 2529 สามารถขยายผลทำได้ 100% ของประชากร
  • ปี2532 อ.เสรี พงศ์พิศ ชวนกลุ่มต่างๆมาคุย จึงเกิดการขยายแนวคิดสวัสดิการ
  • 2543 เกิดกองทุนหมู่บ้าน นำรูปแบบของน้ำขาว เสนอให้รัฐสมทบปีแรก 100% สร้างฐานให้ชุมชน แล้วค่อยลดการสนับสนุนลง จนพื้นที่สามารถรวมได้ 21 กลุ่มได้เงินจากรัฐบาลมาสนับสนุนชุมชน แต่การขยายผล แม้จะมีความเห็นว่ามีประโยชน์มากแต่ก็ติดขัดระเบียบราชการ
  • 2547-ปัจจุบัน การทำสัจจะลดรายจ่ายวันละบาทเพื่อสร้างสวัสดิการประชาชน 9 ด้าน วางเป้าหมายทำทั้งจังหวัด มีการเสนอผู้ว่าสมพร ใช้บางยาง ขอการสนับสนุนโดยประชาชนทำเอง ซึ่งต่อมามูลนิธิครูชบ-ปราณี ยอดแก้วรับช่วงรับผิดชอบ บนฐานคิด 1 ตำบล 1 กองทุน ปัจจุบันทำไปแล้ว 138 แห่ง(จาก140 แห่ง) และมีสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนจ.สงขลารับผิดชอบร่วมกับมูลนิธิ มีสมาชิก 170,000 คน มีเงิน 112 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วปัจจุบันมีเงินเหลือ 87 ล้านบาท
  • ครูชบ ยอดแก้ว ได้เล่าประสบการณ์การทำงานในช่วงเริ่มต้น ว่ามีการทำวิจัย ได้ข้อสรุปว่าหากประชาชนทำเพียงลำพัง 15 ปีมีแนวโน้มล้ม มีการวิจัยใหม่ เสนอนโยบายให้ท้องถิ่นและรัฐสมทบด้วย
  • ต่อมาปี 2552 รัฐบาลสนับสนุน บน 4 ข้อเสนอ ได้แก่ ทำให้สวัสดิการเป็นวาระชาติ ให้รัฐสมทบ 1 ท้องถิ่น 1 ประชาชน 1 บาท (สงขลามี 100 กลุ่มได้รับประโยชน์ โดยอายุกลุ่มต้องเกิน 1 ปี มีการจัดสวัสดิการไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง) ให้เกิดกลุ่มสัจจะฯ ทุกแห่งในประเทศ และให้แก้ระเบียบให้รัฐ/ท้องถิ่นสามารถสมทบงบได้ ต่อมาได้มีมติครม.ให้สามารถสมทบได้

ข้อเสนอในการยกระดับการทำองค์กรการเงิน มีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. เสนอเชิงนโยบาย ให้มีการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์ ปล่อยกู้ให้ชุมชน/องค์กรสหกรณ์ที่อ่อนแอ หรือหนุนเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยต่อยอดทุนทางสังคม นำมาสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน หรือทำโรงงานขนาดเล็ก
  2. สร้างผลประโยชน์ให้สมาชิกที่มิใช่แค่เงิน ด้วยการสำรวจความต้องการของสมาชิก สร้างผลผลิต ต่อยอดผลผลิต ยกระดับคุณภาพชีวิต
  3. พัฒนาทุนเงิน ไปถึงทุนคนให้มากขึ้น โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาคน เช่นกรณี สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท เพื่อทำสวัสดิการ 9 ด้าน บนฐานการสมทบระหว่างชุมชน 1 บาทท้องถิ่น 1 บาทรัฐ 1 บาท ทางสมาคมฯได้ว่างเป้าหมายให้ครอบคลุม ประชากร 50% ของสงขลา

    รูปแบบของสัจจะลดรายจ่าย แบ่งผลประโยชน์เป็น 3 ส่วน 50% นำไปจัดสวัสดิการ 9 ด้าน 30% นำไปลงทุนหารายได้ หรือการศึกษา เช่น ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำปุ๋ย น้ำยาเอนกประสงค์ ผลิตอาหารเอง/ข้าว ทำร้านค้าชุมชน ซื้อของราคาถูก มาจำหน่ายสมาชิกโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ โดยจัดระบบข้อมูลความต้องการ/ทุน และอีก 20% เป็นเงินบำนาญในอนาคต

  4. สร้างจิตสำนึก ให้สมาชิกองค์กรการเงินกลัวบาป มุ่งเน้นใช้คุณธรรม พัฒนาด้วยหลักศรัทธา ทำงานร่วมกับวัด/มัสยิด/โบสถ์
  5. พัฒนาแนวคิดของกรรมการในด้านการบริหารจัดการ มีการทำงานจากเล็กไปใหญ่ จากง่ายไปยาก แก้ปัญหาสุขภาพ/สร้างเสริมสุขภาพโดยวิจัยหาตัวเลขความเจ็บป่วย ข้อค้นพบเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค หรือมีการอบรมทำความเข้าใจด้านสวัสดิการ สร้างองค์ความรู้ เสริมการบริหารจัดการ การลงมือทำ

    ควรพัฒนาศักยภาพในกลุ่มสมาพันธุ์/กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในด้านการบริหารจัดการ มีการยึดถือในตัวบุคคล ขาดคนมารับลูกต่อ ไม่มีการพัฒนากลุ่มที่อ่อนแอ ที่มีปัญหาการทุจริต โดยเน้นกรรมการระดับหมู่บ้าน ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิก 800 กว่ากลุ่มเกิดตามปีปฎิทิน และให้ประสานสถาบันการศึกษามาพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปสู่การแก้ไข

  6. การทำงานในลักษณะร่วมคิด ร่วมทุน ร่วมทำ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยเฉพาะโอกาส ในการขยับให้สงขลาเป็นเมืองยางโลก เรามีตลาดที่จีน อินเดียมีความต้องการสูง เรามีศูนย์วิจัย/มีทุนทากแต่ทำกันคนละด้าน จึงควรสร้างระบบข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์การตลาดรวมกลุ่ม แสวงหาลู่ทางใหม่ๆ เช่น นำเงินไปสร้างอาคารที่พักนักศึกษา
  7. ไม่เน้นการกู้ จำกัดวงเงิน มีการส่งเสริมการออมตั้งแต่เด็ก สร้างกองทุนหมุนเวียน หรือกองทุนหมู่บ้าน/กองทุนกลางเพื่อการพัฒนา

โดยมูลนิธิชุมชนสงขลา สามารถเข้าไปสนับสนุนการทำงานในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. การพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มองค์กรการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาคน การบริหารจัดการ
  2. การประสานงานให้เกิดการวิจัยเพื่อแก้ปัญหากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ที่มีความต้องการหาทางออกจากปัญหาที่รุมเร้า มีข้อเสนอให้มูลนิธิเป็นเจ้าภาพนัดกลุ่มออมทรัพย์การผลิตมาพูดคุยเป็นการเฉพาะต่อไปด้วย
  3. ความร่วมมือในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะบางแห่งที่มีความพร้อมในการนำเงินสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท ในสัดส่วน 30% มาเพื่อการลงทุน การลดรายจ่ายในครัวเรือนด้วยการลงขันร่วมซื้อสินค้าในราคาถูกและมีคุณภาพส่งผลดีต่อสุขภาพ
  4. ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์บริการหรือสหกรณ์ออมทรัพย์มอ. รับเงินฝากจากกลุ่มออมทรัพย์ที่มีเงินล้นระบบ
  5. พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อวางรากฐานการวิเคราะห์การตลาด ยกระดับการพัฒนาจังหวัดในอนาคต เช่น การทำสงขลาเป็นเมืองยางโลก และมีการวิจัยเพื่อการยกระดับสหกรณ์เป็นธนาคารสหกรณ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

ปิดการประชุม

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน