ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 16
ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 16 : 28-06-64
ข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทฉบับที่ 2 : วัคซีนต้องมีให้ฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส ประเทศไทยจึงจะรอด
วัคซิเนชั่นและวิคตอรี่ ที่นายกประยุทธ์ชูสองนิ้วนั้นเป็นตลกร้ายที่ห่างไกลความจริง ความสามารถในการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชนรวมๆแล้วไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน เราทุกคนพร้อมลุยงานหนักสลับมาฉีดวัคซีนให้ได้ทุกวันไม่มีวันหยุด เพื่อให้ถึงเป้าที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่ปัญหาคือมีวัคซีนให้ฉีดน้อยเหลือเกิน
ตามแผนเดิมรัฐบาลตั้งการเป้าการจัดหาวัคซีนไว้ชัดเจนว่า มิถุนายนวัคซีนยังมีน้อย แต่ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไป รัฐบาลจะได้แอสตร้าเดือนละ 10 ล้านโดส และซิโนแวค 3-5 ล้านโดส รวมเป็น 13-15 ล้านโดส ซึ่งดูเป้าแล้วจะอุ่นใจสักนิด
แต่มาวันนี้ แอสตร้าจากสยามไบโอไซน์มีกำลังการผลิตที่น่าจะคงที่แล้วคือ เดือนละ 15 ล้านโดส (ลดลง 25% จากเดิมที่บอกไว้ที่ 20ล้านโดสต่อเดือน) จำนวนเดือนละ 15 ล้านโดสที่ผลิตได้นี้ จะส่งมอบให้รัฐบาลไทยเพียงเดือนละ 4 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะต้องส่งออกตามสัญญา ความฝันที่เดือนละ 10 ล้านโดส จึงหดหายได้มาเพียง 40%เท่านั้น เล่นเอายอดจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคมที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ ไม่ลงตัว จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งยอดจัดสรรมาที่จังหวัด
ส่วนซิโนแวคนั้นดูชิวๆ ขอให้รัฐบาลไทยจ่ายเงิน ประเทศจีนเขาพร้อมส่ง ดังข่าวการสั่งซื้อซิโนแวคอีก 28 ล้านโดส ดังนั้นการสั่งเพิ่มซิโนแวคมากกว่า 5 ล้านโดสต่อเดือนจึงเป็นไปได้แน่ แต่ที่แย่คือประสิทธิภาพของซิโนแวคที่ต่ำกว่าวัคซีนอื่นใด
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า จอห์นสันแอนจอห์นสันนั้น หากไม่นับlotเล็กที่มหามิตรอเมริกาอภินันทนาการทางการตลาดให้ ก็ต้องรอไม่ก่อนตุลาคม 2564 ซึ่งถึงตอนนั้นไทยคงระบาดจนย่ำแย่ไปแล้ว ชมรมแพทย์ชนบทได้คุยกันอย่างหนัก เราเห็นบุคลากรทางการแพทย์ ท้องถิ่น ท้องที่ และอสม. ต่างก็สู้ยิบตาควบคุมโรคในพื้นที่จนอ่อนล้า งานรักษาพยาบาลบนหอผู้ป่วยและ ICU ก็เหนื่อยแสนสาหัส ทางรอดของประเทศก็ยังอยู่ที่ “วัคซีน” ไม่ใช่การล็อคดาวน์ เราจะล็อคดาวน์ตัวเองไปได้กี่สัปดาห์ เศรษฐกิจก็จะล่มแล้ว ผู้คนจะอดตายกันอยู่แล้วนะ หากไม่เร่งระดมฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด อย่าว่าแต่ 120 วันจะเปิดประเทศเลย ข้ามปี 2565 ก็เปิดประเทศไม่ได้
วัคซีนก็เสมือนเสื้อเกราะ ใครๆก็อยากได้เสื้อเกราะหนาๆอย่างดี เช่นไฟเซอร์ โมเดิร์นนา แต่กว่าจะได้มาก็ตุลาคม เราเคยนึกว่าเราจะมีเสื้อเกราะเกรดปานกลางคือแอสตร้าอย่างเพียงพอแต่ก็ไม่จริงเสียแล้ว แต่ที่แน่ๆเราสามารถซื้อเสื้อเกราะเกรดบางอย่างซิโนแวคซิโนฟาร์มได้ไม่อั้น ขอให้มีเงินจ่ายก็พอ เกราะบางนี้ก็พอไหวแม้จะป้องกันการติดเชื้อได้แม้ไม่ดีเท่า แต่ก็ลดการป่วยหนักและลดการตายลงได้ ที่แย่ก็คือซิโนแวคอย่างบางนี้ราคาแพงหุฉี่ แพงพอๆกับเสื้อเกราะอย่างหนานี่สิ แต่ดูเหมือนเราแทบจะไม่มีทางเลือก จะยอมใส่เกราะบางๆหรือจะสู้โควิดแบบไม่มีเสื้อเกราะให่ใส่
ประเทศไทยได้มาถึงจุดวิกฤต เราจะยอมรับการมีวัคซีนฉีดเพียงไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนไม่ได้อีกแล้ว ทั้งๆที่เราฉีดได้มากกว่า 15 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลต้องเร่งรัดจัดหาวัคซีนในทุกช่องทางมาให้เร็วและมากที่สุด ให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส และต้องพยายามในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสื้อเกราะอย่างหนาเช่นไฟเซอร์ โมเดิร์นนามาให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้เร็วและมากที่สุดเช่นกัน นี่คือเป้าหมาย คือความอยู่รอดของประเทศ และคือตัววัดความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาล จะสอบตกถูกไล่ออกก็อยู่ที่ข้อสอบข้อนี้ แต่ถ้าสอบตกคนไทยทั้งประเทศก็พลอยตกเหวไปด้วย
บัดนี้เราคงต้องทำใจว่า “มันสายเกินไปแล้วสำหรับคนไทยที่จะสามารถเลือกวัคซีนได้” เกราะจะบางหรือปานกลางก็ต้องแย่งฉวยใส่กันป่วยกันตายไปก่อน วัคซิเนชั่นและวิคตอรี่ที่แท้จริง ต้องฉีดวัคซีนเดือนละไม่ต่ำกว่า 15ล้านโดส โดยต้องพยายามให้เป็นซิโนแวคให้น้อยที่สุด นี่คือทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ รัฐบาลประยุทธ์จะผลักดันให้เป็นจริงได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตนเองลาออกไป
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567