"ประชุมคณะทำงานและภาคีเครือข่ายเมืองบ่อยาง"
"ประชุมคณะทำงานและภาคีเครือข่ายเมืองบ่อยาง"
วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
ประเดิมเมืองแรกของพื้นที่ภาคใต้ โครงการประชาสังคมร่วมแรงเปลี่ยนแปลงเมือง(SUCCESS) ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป นัดคณะทำงานและภาคีเครือข่าย ณ ห้องประชุมชั้น ๕ ทน.สงขลา โดยมีรองนายกทน.สงขลา แกนนำประชาสังคมในส่วนองค์กรชุมชน องค์กรประชาสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีข้อสรุปสำคัญดังนี้
๑)ทำความเข้าใจกรอบแนวคิดของโครงการฯในการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาสังคม(องค์กรชุมชน/องค์กรนิติบุคคลระดับพื้นที่ที่ก่อตัวขึ้นเองหรือหน่วยงานจัดตั้งขึ้น/เอกชน)ให้มีขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบกับเมืองและระบบเมือง และส่งผลต่อประชากรกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้เมืองสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมรองรับ
๒)ร่วมกำหนดแนวทางการประเมินความเปราะบางของเมือง ที่มีข้อเสนอปลีกย่อย ได้แก่
๒.๑ ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่ค่อนข้างมีมากคือ ผลกระทบต่อชายฝั่ง ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ควรมีการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่ง อย่างเร่งด่วนและจริงจัง
๒.๒ ผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั้งจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน และเมื่อคนนำมาบริโภคทำให้ส่งผลต่อระบบสุขภาพในที่สุด รวมไปถึงการขาดความหลากหลายทางชีวภาพ โดมความร้อนของเมืองส่งผลต่อชีวอนามัย การใช้ชีวิต มลภาวะ
๒.๓ ผลกระทบต่อประชากรแฝงที่มีจำนวนมากในเขตเมือง กลุ่มเปราะบางต่างๆ รวมถึงกลุ่มอาชีพ การประกอบอาชีพในเขตเมือง ความเปราะบางของชีวิตความเป็นอยู่ คนเมืองมีลักษณะการประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ ปัญหาด้านเศรษฐกิจถือว่าเป็นปัญหาของกลุ่มเปราะบางกลุ่มใหญ่ ซึ่งเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตและรายได้ ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และผู้ใช้แรงงาน
๒.๔ แนวทางแก้ไขสำคัญ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เนื่องจากเขตเมืองสงขลาจะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM ที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่สีเขียวของสงขลามีเพียงแหลมสนอ่อน โดยสามารถพัฒนาศักยภาพของเมืองเพื่อรองรับการแก้ปัญหาฝุ่น PM ได้อีกแหล่งหนึ่ง หรือมีมาตรการที่เป็นการสร้างแรงจูงใจในการสร้างพื้นที่สีเขียวของเมือง เช่น การลดภาษีโรงเรือน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเมืองหันมาเพิ่มพื้นที่สีเขียวกันมากขึ้น หรือมีพื้นที่รองรับให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากชุมชนเมืองมีพื้นที่การใช้ประโยชน์จำกัด โดยมีกิจกรรมของ ม.ทักษิณที่ค้นหาบ้านผู้ป่วยติดเตียง ให้มีการปรับสภาพที่เหมาะสม โดยควรมีการสำรวจบ้านหรือกลุ่มเปราะบางในชุมชน โดยสำรวจปัญหาที่ได้รับผลกระทบด้วย หรือมีการส่งเสริมการปลูกผักกินเอง หรือครัวชุมชน โดยส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่มีครัวกลางของตัวเอง
๒.๕ แนวทางการประเมินความเปราะบาง ให้ความสำคัญกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งปริมาณฝน อุณหภูมิ การกัดเซาะชายฝั่งพิจารณาคู่กับระบบเมืองและกลุ่มเปราะบางในชุมชนทั้ง ๕๕ แห่งรวมถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ บางอย่างศึกษาในภาพรวม บางอย่างศึกษาเฉพาะจุด ในส่วนคณะทำงานจะประกอบด้วยตัวแทนชุมชน กลุ่มอาชีพ องค์กรชุมชน/ประชาสังคมในพื้นที่ ท้องถิ่นและหน่วยงาน ภาคเอกชน โดยยึดบุคคลที่มาร่วมประชุมเป็นหลัก
๓)นัดครั้งต่อไป ประชุมคณะทำงานชุดเล็ก จัดทำร่างข้อเสนอโครงการประเมินความเปราะบางฯ
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก คุณชัย สงขลา เจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลา
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567