ความไว้วางใจหัวใจสำคัญการทำงานพัฒนาของภาคีเครือข่าย
ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานการทำงานในรูปแบบเครือข่าย และกระบวนการสร้างความเป็นเจ้าของร่วม ที่ใช้ทั้งสมอง(ความรู้/ปัญญา) และหัวใจ(ความเป็นมนุษย์) เป็นเสมือนสนามพลัง(Platform) ที่จะเอื้อให้ทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมบนฐานประโยชน์สาธารณะได้เติบโต มีอิสระ และแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
งบประมาณที่ไม่เพียงพอหาใช่อุปสรรคใหญ่ บ่อยครั้งกลายเป็นข้อจำกัดในตัวเองด้วยซ้ำหากมีงบมาก ด้วยเหตุจะมุ่งเดินไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนากระทั่งละเลยกระบวนการระหว่างทาง และมองไม่เห็นความจริงของพื้นฐานในประเด็นงานที่ยังมีปัญหาเต็มไปด้วยช่องว่างเชิงระบบ (รวมถึงการติดยึด พึ่งพิงภาวะผู้นำ หรือใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนำกระบวน ละเลยมองข้ามระบบทีม และการจัดกระบวนการที่ขาดสมดุล)
งานวันพลเมืองสงขลา พยายามลดช่องว่างที่มีในหลายประการ กล่าวคือ
๑.หาคำกลางที่จะได้มีเพื่อนมากขึ้น ทุกองค์กรมาร่วมจะได้ไม่ยึดติดกับดัก เห็นเป้าหมายร่วม เห็นความสัมพันธ์ร่วม(รัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน วิชาการ ฯลฯ) ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง ไม่เบียดขับใคร(แม้ต่างอุดมการณ์) เป็นพื้นที่เปิด และไม่ได้เป็นเจ้าของแค่เพียงขบวนเดียว ด้วยการสื่อสารบอกชัดเจนว่ามีใครบ้างเข้าร่วม อันที่จริง จังหวัดใหญ่หรือเล็กก็ไม่ได้ต่างกัน กล่าวคือ มักมีหลายขบวน หลายวิธีการ หลายชุดความคิด ไม่สามารถมีใครหรือขบวนใดกุมสภาพได้เบ็ดเสร็จ และไม่จำเป็นจะต้องมาเป็นขบวนเดียวกันด้วยจักไม่สามารถถมเต็มปัญหาสารพัน และความหลากหลายของวิถี ศักยภาพ
๒.กระบวนการนโยบายสาธารณะ ไม่จำเป็นจะต้องมีรูปแบบเดียว เวทีสาธารณะสามารถเป็นการประกาศเจตนารมณ์ การประกาศตัว และเป็นบันใดของการสร้างความไว้วางใจ แทนที่จะเป็นการประกาศนโยบายที่ปรารถนา หรือผลักดันเป้าประสงค์ มาตรการของตนเองไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยละเลยการมีส่วนร่วม นโยบายจำนวนมากมาจากการสั่งการเชิงอำนาจที่ผูกติดกับตัวบุคคลและงบประมาณของแหล่งทุน/องค์กรที่รับผิดชอบ มิใช่นโยบายสาธารณะจริงๆ เป็นได้เพียงยุทธศาสตร์ของบางกลุ่ม บางคณะ และพยายามส่งมอบไปให้คนอื่นเดินตาม ไม่เข้าใจรากฐานความเป็นเจ้าของร่วมที่จะต้องแบ่งปันจัดสมดุลผลประโยชน์สาธารณะร่วมกัน ถกแถลงบนพื้นฐานความรู้ และกระบวนการที่เหมาะสม
๓.กระบวนการที่ดีควรจะอยู่ในระดับชีวิตประจำวัน หมายความว่าไม่แปลกแยกไปจากการปฎิบัติจริง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่นนั้นแล้วจึงควรมีหลายรูปแบบ หลายวิธีการ มีกระบวนการและกิจกรรมย่อยๆ ที่สามารถดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเจ้าของร่วม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ศึกษาสภาพปัญหา ทุนทางสังคม วิถีปฎิบัติ ทดสอบทดลองปฎิบัติ จนเกิดตวามมั่นใจก่อนที่จะนำไปสู่ขยายผล การประกาศเป็นนโยบาย สามารถปรับระบบเกิดพฤติกรรมใหม่ แนวปฎิบัติใหม่ที่ดีกว่าเดิม มีการติดตามประเมินผลเพื่อทบทวนปรับปรุงให้ดีขึ้นไปตลอดเวลา
๔.การวิเคราะห์องค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาสู่การเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาถกแถลงบนฐานความรู้ กระบวนการ เครื่องมือที่ดี ประกอบกับการใช้หลักคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การมีธรรมาภิบาล เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่จะถักทอเครือข่ายสร้างความไว้วางใจต่อกัน จนสามารถประสานเป้าหมายขององค์กรไปสู่เป้าหมายร่วม ประโยชน์ร่วม บนฐานสาธารณะได้ประโยชน์สูงสุด
๕.การปะทะกันระหว่างการสร้างความเข้มแข็งอันเป็นปัจจัยภายในกับกระแสความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ยังเป็นอีกตัวแปรที่มักพบระหว่างทาง การมีหลายขบวน หลายชุดความคิด จึงพอจะช่วยลดช่องว่างของสถานการณ์ดังกล่าวได้ และเป็นข้อจำกัดที่จะต้องช่วยกันลดทอน และเป็นเป้าหมายร่วมในการทำงานด้วยกันของทุกขบวนในอนาคต โดยเฉพาะการลดทอนข้อจำกัดเชิงโครงสร้างระดับประเทศ
ชาคริต โภชะเรือง เขียน
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567