ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 23
ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 23
โควิด คนไทยใจดี กับของบริจาคที่กำลังจะล้นโรงพยาบาล
สถานการณ์โควิดทำให้วิชาชีพสุขภาพได้รับการให้กำลังใจกันอย่างถ้วนทั่ว ประกอบกับช่วงเริ่มต้นสถานการณ์โควิดที่มีภาวะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยจริงๆในทุกโรงพยาบาล สั่งซื้อก็ไม่ได้ของ แพทย์พยาบาลกำลังเป็นนักรบที่ไร้เกราะ ทำให้เกิดกระแสการบริจาคหน้ากากอนามัยมาสู๋โรงพยาบาล จากนั้นก็ตามด้วยหน้ากากผ้า ชุดPPE เสื้อฝน หมวกคลุมผม ถุงหุ้มรองเท้า เฟสชิลด์ หน้ากากกันเชื้อไวรัสได้เช่น N95 ชุด แอลกอฮอล์เจล จนไปถึงของชิ้นใหญ่ขึ้นเช่น กล่องอะคลิลิก กล่องยูวีอบฆ่าเชื้อ ตู้ความดันลบเป็นต้น
ของบริจาคมากมากหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ คนในเมืองหลวงหรือในเมืองใหญ่ มักจะบริจาคหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ชุด PPE ของที่หาซื้อตามแหล่งขายที่ต้องเสาะหา ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ก็จะบริจาคเป็นขนม อาหาร ผลไม้ โรงพยาบาลจะนะได้รับทั้งปลาทะเลสดๆ น้ำอ้อยสดน้ำสมุนไพรใบย่านางเย็นชื่นใจ กล้วยส้มมะละกอ ขนมโรตีกรอบที่กลุ่มแม่บ้านทำเอง เป็นต้น
ศิลปะการจัดการของบริจาคเป็นเรื่องสำคัญ ที่โรงพยาบาลจะนะ เมื่อมีผู้ส่งของมาให้ ของทุกรายการจะถูกส่งมาที่ฝ่ายบริหาร เพื่อลงทะเบียน ถ่ายรูปและตอบขอบคุณเป็นจดหมายที่แนบภาพถ่ายสิ่งของบริจาคที่โรงพยาบาลได้รับ ภาพถ่ายนั้นมีความหมายมากในยุคสังคมออนไลน์ เพราะผู้บริจาคมักจะทักมาทางสื่อออนไลน์ ขอภาพการรับของบริจาค เพื่อยืนยันว่าของได้รับแล้ว และเพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่ร่วมสมทบทุนมาด้วย
การกระจายของที่ได้มาก็เป็นอีกประเด็น หลายอย่างทางโรงพยาบาลจะนะได้มาเกินความต้องการ เช่น เฟสชิลด์และกล่องอะคริลิก สิ่งเหล่านี้จึงถูกกระจายไปยัง รพ.สต. ไปยัง อสม.และ อส.ที่ดูแลศูนย์กักตัวระดับตำบล รวมทั้งกระจายไปถึงหน่วยกู้ชีพประจำตำบลที่ออกรถรับผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมถึงแบ่งปันสู่โรงพยาบาลข้างเคียง เป็นต้น
สิ่งของบริจาคที่จัดการยากที่สุดคือ แอลกอฮอล์เจล และแอลกอฮอล์สเปรย์ ปัญหาคือ แอลกอฮอล์นั้นมีความเนื้อแอลกอฮอล์เกิน 70% หรือไม่ หากน้อยกว่า 70% ก็ฆ่าเชื้อได้ไม่เต็มที่ การทดสอบก็ยากและไม่คุ้ม บีบใส่มือแล้วรู้สึกว่าเย็นน้อยไปก็อาจแปลว่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยไป ฉลากที่ติดมาสวยแต่บางครั้งก็ไม่อาจมั่นใจ จึงต้องมีการคัดเอาส่วนที่มั่นใจไปใช้ในหอผู้ป่วย ส่วนที่ไม่มั่นใจนัก อาจนำมาผสมใหม่กับแอลกอฮอล์ 95%ที่โรงพยาบาลมี เพื่อให้ความเข้มข้นเพิ่มขึ้นก่อนนำไปใช้
อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์นั้นสำหรับโรงพยาบาลของรัฐนั้น แท้จริงเป็นหน้าที่รัฐบาลในการจัดหา ประชาชนมาทำหน้าที่แทนก็น่าดีใจยิ่ง แต่ให้รัฐบาลเขาได้ทำหน้าที่บ้างก็ได้ สำหรับกระแสการบริจาคของสำหรับโรงพยาบาลนั้น โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าพอสมควรแล้ว กำลังใจมากล้นแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจทำให้ผู้คนลำบากมาก นั่นยังเป็นช่องว่างที่รอการเติมเต็ม
สองเดือนผ่านไป เงินออมเงินเก็บของคนจนเมืองคงหมดไปแล้ว คนตกงาน คนจนไม่มีรายได้จึงต้องยอมมาต่อคิวรับข้าวที่มาแจกกันเป็นชั่วโมง นี่จึงยังเป็นจุดที่รอน้ำใจความช่วยเหลือจากพี่น้องคนไทย แต่การจัดการก็จะแตกต่างออกไป ต้องลงแรงมาก ต้องหากลวิธีให้อาหารเหล่านั้นไปให้ถึงคนลำบาก ต้องหาทางจัดระเบียบการรับอาหารแบบมีการเว้นระยะ ต้องการการจัดการสูง อาจต้องตั้งเป็นครัวกลางในชุมชนนั้นๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่เป็นหาทางที่เราคนไทยควรช่วยเหลือกัน
แนวรบใหม่ของน้ำใจคนไทยจึงอาจต้องผันไปสู่ “การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของคนจนเมืองและคนลำบาก” น้ำใจเหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเครียด และลดการฆ่าตัวตายลงได้ครับ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 30 เมษายน 2563
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567