ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 6
ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 6
โควิด หอผู้ป่วยโควิด สิ่งที่ทุกโรงพยาบาลต้องเตรียมพร้อม
ทุกโรงพยาบาลไม่ว่าเล็กใหญ่ คงต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดหอผู้ป่วยโควิด
เมื่อโรงพยาบาลจะนะแรก admit ผู้ป่วยพร้อมกันทีเดียว 6 คนเข้ามาในหอผู้ปวยในนั้น เรายังไม่ได้เตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะผู้ป่วยโควิด ทางเลือกเดียวที่เรามีคือ การนำผู้ป่วยไป admit ห้องพิเศษ เพราะเป็นเสมือนห้องแยกที่เรามีอยู่ เรามีห้องพิเศษรวม 5 ห้องความดันลบอยู่ 1 ห้อง รวมเป็น 6 ห้องในหอผู้ป่วยชายชั้น 4 จึงนำผู้ป่วยเข้าพักในห้องพิเศษและห้องความดันลบรวม 5 ห้อง แปลว่ามีหนึ่งห้องที่ผู้ป่วยต้องนอนกัน 2 คน โดยทางโรงพยาบาลได้กันไว้ 1 ห้องสำหรับเป็นห้องแต่งชุด PPE และห้องเก็บของรวมทั้งเป็นห้องพักเจ้าหน้าที่ เพราะพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิดนี้ จะไม่ต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยคนอื่นใดอีก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล
แม้ว่าห้องพิเศษของแบบอาคารโรงพยาบาลจะนะจะมีสัดส่วนที่แยกชัดเจนจากห้องสามัญที่มีนอนรวมแล้วก็ตาม ผลก็คือ ผู้ป่วยเตียงสามัญนั้นขวัญผวาไปทั้งหมด ขอกลับบ้านจำนวนมาก จะเหลือก็เพียงคนที่กลับไม่ไหวจริงๆเท่านั้นที่ยังนอนต่อไป ข่าวลือออกไปไกลในชุมชน เรา admit ผู้ป่วยทั้ง 6 คนจนครบ 14 วัน ในช่วงนั้นคนป่วยคนไหนพอกลับได้ จะขอกลับบ้านไปทานยาหรือยอมมาฉีดยาทุกวันแทนการนอนโรงพยาบาล
ในช่วงนั้นเอง โรงพยาบาลจะนะก็ตระหนักดีว่า เราควรต้องมีหอผู้ป่วยโควิดแยกออกไป เพื่อให้ง่ายและมั่นใจในการบริหารจัดการและลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล จึงนำมาสู่การจัดหอผู้ป่วยโควิด มองๆหาก็มีเพียงพื้นที่ของอาคารใหม่ชั้นสองที่สร้างไว้เป็นห้องพักของแพทย์และนักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเปิดใช้ ที่มีความเหมาะสม จึงผันมาใช้เป็นหอผู้ป่วยโควิดขนาด 20 เตียง ให้ผู้ป่วยนอนเป็นปฐมฤกษ์ อีกสักปีพอโรคภัยสงบค่อยมาจัดสรรเป็นห้องนอนของแพทย์เช่นเดิม
ทุกโรงพยาบาลไม่ว่าเล็กใหญ่คงต้องหาทางจัดสรรพื้นที่เท่าที่มีตามข้อจำกัดมากมายให้มีหอผู้ป่วยโรคโควิด แล้วจัดการให้มีพยาบาลคนงานมาประจำการ ที่จะนะมีทั้งที่สมัครใจและจับสลาก อุปกรณ์พร้อม ระบบพร้อม สถานที่พร้อม เวชภัณฑ์พร้อม เมื่อมีผู้ป่วยสงสัยโควิดหรือตรวจพบเชื้อโควิด จะได้ไม่โกลาหล
การไม่มีการติดเชื้อกันเองในโรงพยาบาล ไม่มีการติดเชื้อจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน และผู้ป่วยรักษาหาย นั้นคือตัวชี้วัดเชิงคุณภาพสำหรับการจัดการและดูแลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลครับ ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 10 เมษายน 2563
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567