"แผนผังภูมินิเวศชุมชนบ้านหลบมุม"
"แผนผังภูมินิเวศชุมชนบ้านหลบมุม"
วันที่ 13 พฤศจิกายน .2566 โครงการ success เมืองพะตง นัดชุมชนบ้านหลบมุม ทต.พะตงคืนข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผนผังภูมินิเวศชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการนำร่อง ณ ศาลาเอนกประสงค์ ชุมชนบ้านหลบมุม
มีผู้เข้าร่วม 50 คน ประกอบด้วยคณะทำงาน กองสวัสดิ์ฯ ทต.พะตง อสม. สมาชิกในชุมชน มูลนิธิชุมชนสงขลา และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ตัวแทนคณะทำงานที่ได้ทำแผนที่ทำมือสำรวจข้อมูลครัวเรือนและสภาพแวดล้อมในชุมชนอย่างละเอียด พบว่ามีครัวเรือนทั้งสิ้น 1,325 หลัง ในจำนวนนี้เป็นบ้านของตนเองราว 40% เป็นบ้านเช่ามากถึง 60% และพบบ้านว่างอีกราว 200 หลัง และเป็นคนดั้งเดิมอยู่นานเกิน 50ปีราว 10% บ้านของผู้ที่ทำบ้านเช่าได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยบางส่วนไม่ได้แจ้งกับทางเทศบาล ประกอบกับเป็นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ทำให้ไม่เกิดการรับรู้และสื่อสารร่วมกัน ผู้อาศัยในบ้านเช่าไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านแม้จะอยู่มานานหลายปี ทำให้ไม่ทราบจำนวนคนในชุมชน กลุ่มเหล่านี้เป็นคนต่างถิ่น และส่วนหนึ่งเป็นต่างด้าว มาทำงานกับโรงงานในพื้นที่
ชุมชนกำหนดพื้นที่เป็น 5 โซน อาทิ
โซน 1 บ้านริมถนนเป็นบ้านจัดสรร และเป็นบ้านของตนเอง บางส่วนเป็นบ้านที่อยู่ริมทางรถไฟ เป็นพื้นที่การผลิต มีการทำสวนยาง ปลูกผัก พบปัญหาการถมที่ให้สูงเท่าถนนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
โซน 2 เป็นจุดที่อยู่ใจกลางชุมชน บ้านของสมาชิกอยู่ริมทางรถไฟ เป็นบ้านเช่า/บ้านริมทางรถไฟที่กำลังอยู่ในการเจรจาของโครงการรถไฟรางคู่ ใช้ทั้งน้ำและไฟฟ้าแบบต่อพ่วง มีศาลาเอนกประสงค์ สนามเด็กเล่น สนามบาส เป็นพื้นที่สาธารณะ พบปัญหาขยะและท่อตันเนื่องจากไม่มีฝาปิด และมีน้ำท่วมในบางจุด
โซน 3-4 อยู่ติดกับถนนกาญจนวนิช พบปัญหาน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
โซน 5 เป็นเขตโรงงาน
สภาพปัญหาที่พบโดยรวมอื่นๆ ในด้านสังคมพบปัญหายาเสพติด การลักโขมย การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างถิ่น ต่างด้าวและสมาชิกในชุมชน ในด้านสุขภาพ พบผู้ป่วยติดเตียงราว 20 คน ด้านสภาพแวดล้อมนอกจากปัญหาน้ำท่วมระบายไม่ทัน น้ำเสีย ขยะอุดตัน ยังพบปัญหาน้ำประปา/บ่อบาดาลมีกลิ่น มีสีเหลืองขุ่นข้นอีกด้วย
ข้อเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อไปจากที่ประชุม
1.การจัดการข้อมูล นำข้อมูลจากแผนที่/ผังภูมินิเวศเข้าสู่ระบบ GIS แสดงรายละเอียดในแต่ละด้าน อาทิ จำนวนบ้าน/บ้านเลขที่ แยกบ้านว่าง บ้านเช่า บ้านที่มีสมาชิกในชุมชนอาศัยอยู่ บ้านที่มีคนต่างถิ่น ต่างด้าว บ้านริมทางรถไฟที่จะต้องเจรจาแก้ปัญหากรณีรถไฟรางคู่ แสดงจุดที่มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มเปราะบาง พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ระบบระบายน้ำ จุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ทางผ่านของน้ำ เป็นต้น จัดพิมพ์เป็นสื่อคืนให้กับชุมชนและคณะกรรมการชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์
ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด ทำข้อเสนอแนะประกอบการทำแผนผังภูมินิเวศในด้านการอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟู เสนอต่อทีมกลางระดับตำบล
2.ปรับแผนชุมชน เพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนข้อมูลและกิจกรรมใหม่
2.1 รวมกลุ่มกันจัดทำกิจกรรมภายในชุมชน ในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในฐานะชุมชนเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากสมาชิกที่อยู่ในชุมชนดั้งเดิมและสมาชิกที่อยู่ถาวรหรือตั้งใจอยู่นาน โดยใช้แอพ iMed@home ระบบกลุ่มปิดในการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน/ผู้สมัครใจ/หน่วยงาน เข้าถึงข้อมูลภาพรวมของชุมชนและกลุ่มเสี่ยง เพื่อปรับระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างครบวงจร...คัดกรอง/ประเมินหากลุ่มเสี่ยง ปรับพฤติกรรม/สภาพแวดล้อม และประเมินผล
-ด้านสุขภาพ อสม.คืนข้อมูลการคัดกรองสุขภาพให้ชุมชนเห็นจำนวนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย จำแนกโรค สาเหตุ วิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงและทำแผนสุขภาพชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงของโรค(โดยเฉพาะ NCDs) รวมกลุ่มออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เปตอง แอโรบิค การฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับรับสมัครกลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยที่ต้องการปรับพฤติกรรมตนเอง หรือร่วมกันทำในชุมชน และร่วมกับหน่วยบริการ ปรับสภาพบ้านและพฤติกรรมเพื่อป้องกันการลื่นล้ม ในกลุ่มผู้สูงอายุ
-ด้านเศรษฐกิจ รับสมัครผู้สนใจรวมกลุ่มสร้างรายได้โดยเฉพาะในด้านเกษตร ขยายสมาชิกผู้ผลิต พื้นที่การผลิต และการตลาด พัฒนาตลาดรูปแบบใหม่ที่สนองตอบผู้บริโภค อาทิ ร้านอาหาร โรงงาน โรงแรม ภายใต้แนวคิด "ตลาดล่วงหน้า" รวมกลุ่มลดรายจ่ายในครัวเรือน สร้างอาชีพเสริม และเริ่มการออมก่อนเกษียณร่วมกับเทศบาล/ธนาคาร
-ด้านสังคม รับสมัครผู้สนใจรวมกลุ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสม มีกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมผู้สูงอายุ/กีฬาผู้สูงอายุ เน้นลดความเครียด ผ่อนคลาย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง 3 วัย เปิดห้องเรียนรองรับสังคมสูงวัยให้ความรู้ดูแลตนเองในมิติต่างๆ ร่วมกับกองสวัสดิ์ฯในการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน
2.2 คณะกรรมการชุมชนร่วมกับหน่วยงานอาทิ เทศบาล โรงงาน โรงเรียน และภาคีเครือข่ายภายนอก
-ร่วมกับกองช่าง เพิ่มทางระบายน้ำ วางผังเส้นทางระบายน้ำในจุดท่วมขัง
-เพิ่มร้านค้าชุมชน/ตลาดชุมชน เพื่อหมุนเวียนผลผลิต ลดรายจ่าย เสริมรายได้
-ปรับสภาพบ้าน ทางลาด สิ่งอำนวยความสะดวก ราวจับ
-จัดทำธนาคารกายอุปกรณ์ ของใช้มือสอง หมุนเวียนการใช้งาน
-กิจกรรมกลางของชุมชน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกใหม่ ดั้งเดิม ทั้งคนต่างถิ่น ต่างด้าว ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ดูแลสมาชิก ครัวเรือนเปราะบางในชุมชน อาทิ การปรับสภาพบ้าน การเก็บขยะ การทำความสะอาดท่อ/คูน้ำที่อุดตัน
-จัดระบบการสื่อสาร การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างถิ่น ต่างชาติ คนดั้งเดิม ผ่านระบบตัวแทนกลุ่ม/สถานประกอบการ ชุมชน
Relate topics
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567
- “พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”
- กิจกรรมตรวจรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SGS PGS ปี 2567
- คณะทำงานเมืองละงูประเมินสถานการณ์รับมือน้ำท่วม กันยายน 67
- ภาคีเครือข่ายร่วมวางแผนนำอาหารปลอดภัยเข้าสู่โครงการลดโรค NCDs เมืองควนลัง
- แม้โรงพยาบาลจะจนลง เราจะไม่ลดคุณภาพของการรักษาพยาบาลอย่างแน่นอน
- "ภาคีพลเมืองสงขลาร่วมปรับสภาพบ้านเพื่อคนพิการติดเตียงและกลุ่มเปราะบาง"
- เวทีเชื่อมโยงพัฒนากลไกเครือข่ายผู้ใช้น้ำและเกษตรกรใน พื้นที่ลุ่มน้ำคลองต่ำ คลองวาด
- "ประชุมขับเคลื่อนบูรณาการแผนรองรับสังคมสูงวัยตำบลแค"
- "4 PW สงขลา" การพัฒนาระบบข้อมูลกลาง จ.สงขลาระยะที่ 3