ผู้ให้กลายเป็นผู้รับ ผู้รับกลายเป็นผู้ให้

by ชาคริต โภชะเรือง @11 พ.ย. 52 21:04 ( IP : 117...137 ) | Tags : บทความ
  • photo  , 348x261 pixel , 65,859 bytes.
  • photo  , 348x261 pixel , 65,325 bytes.
  • photo  , 348x261 pixel , 62,582 bytes.
  • photo  , 348x261 pixel , 66,150 bytes.
  • photo  , 400x300 pixel , 89,052 bytes.
  • photo  , 400x300 pixel , 76,756 bytes.
  • photo  , 400x300 pixel , 89,052 bytes.
  • photo  , 400x300 pixel , 68,572 bytes.

ช่วงค่ำของวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หาดใหญ่เจิ่งนองไปด้วยสายน้ำ ฝนตกหนักผิดปกติ ต่อเนื่องมาสองวันแล้ว ไม่นานนักก็ท่วมขัง ผมกลับมาจากสงขลา ขับรถฝ่าสายฝนที่ยังโปรยเม็ดมาตลอดทาง

นึกกังวลถึงนัดหมายที่ภูเก็ต เราตกลงกันว่าจะออกเดินทางแต่เช้ามืด แล้วนี่เราจะไปได้อย่างไร เปิดวิทยุฟังข่าว คลองอู่ตะเภากับคลอง ร. 1 น้ำกำลังจะล้นตลิ่ง

ฝนตกหนักทีไร หัวจิตหัวใจเต้นแรงทุกที ทำไงได้ล่ะครับ คนหาดใหญ่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากเหตุน้ำท่วมมาหลายครั้ง ทำให้ไม่นึกประมาท แต่งานสัมมนาเครือข่ายมูลนิธิชุมชน 8-9 พฤศจิกายนนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าเสียด้วย

ผมขับผ่านบางหัก เห็นรถเก๋งจอดนิ่งริมทาง หลายคนเดินกางร่มไปยืนออดูน้ำในคลอง

จังหวะออกตัวรถ พี่ชัยวุฒิโทรมาส่งข่าวว่ารถเสียอยู่ที่สงขลา กำลังติดต่อรถยก...ผมกลับมาถึงบ้าน รีบโทรหาคุณสมพรและคุณชิต สอบถามสถานการณ์

เราตัดสินใจดูเหตุการณ์สักระยะ เลื่อนเวลาเดินทางจากตอนเช้าไปตอนเที่ยง

อาบน้ำจัดกระเป๋า ลงมาเปิดวิทยุฟังแมนจัดรายการกำลังคุยกับเจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ มีปัญหาเรื่องการยกบานประตูปิดเปิดน้ำที่คลองต่ำนิดหน่อยเพราะต้องใช้แรงคนหมุนแทนเครื่องจักร น้ำในคลองทั้งสองยังไหลออกทะเลสาบได้เรื่อยๆ โชคดีเหลือเกินว่าคืนนั้นฝนเริ่มทิ้งช่วง

ผมหลับไปตอนเที่ยงคืน คุณแมนยังจ้อไม่หยุด...เหมือนกับไม่รู้จักคำว่าเหนื่อย มาตื่นอีกครั้งสักราวๆ แปดโมงเช้า แดดเริ่มมีให้เห็น เราติดต่อกันอีกครั้งขยับเวลาเดินทางให้เร็วขึ้นกว่าเดิม จะได้ไปทันดูงานระดมทุนของภูเก็ต

6 ชีวิตจากสงขลาเดินทางไปร่วมงาน พี่ชัยวุฒิมากับพี่เล็ก จัดการรถไปไว้อู่แล้วเสร็จ อ.พิชัย คุณชิต คุณสมพรและผม ทุกคนฉายเดี่ยวโสดสนิท ทุกคนพ้นจากความกังวลเรื่องน้ำนั่งจ้อกันไปตลอดทาง คิดฝันวางแผนงานต้อนรับปีเตอร์จากอเมริกาที่จะมาในช่วงเดือนมกราคม ระหว่างทางฝนยังพรำเม็ดไม่ขาดสาย ผ่านมาถึงตรังแล้วฝนก็ยังตก เราแวะทานข้าวเที่ยงที่ร้านทางเลือก หลายคนติดใจข้าวยำและอาหารสุขภาพที่นั่น

สักราวๆสี่โมงเย็น เราไปถึงภูเก็ต ฝนตกโปรยๆ เสียเวลาวนหาทางเข้าโรงแรมในเครือลากูนาที่จัดระดมทุน ติดต่อใครก็ไม่ค่อยได้ มัวแต่หาชื่อโรงแรมและทางเข้า ดูป้ายมาตลอดทาง มาถึงงานการระดมทุนกำลังจะเลิกพอดี เราจอดรถเดินๆอยู่จู่ๆฝนก็กระหน่ำลงมาอีกจนเดินไปไหนไม่ได้ ในงานมีแต่ฝรั่งเต็มไปหมด แต่เรายังพอได้เห็นร่องรอยของงาน ได้เห็นอาสาสมัครที่มีทั้งไทยทั้งฝรั่งนั่งกันเต็มเต๊นท์ ใส่เสื้อยืดสีเหลืองสด

คุณชิตปรี่เข้าไปหาเป็ดยาง แล้วซื้อติดมือกลับมาหลายตัว

คำอธิบายภาพ : dscf6767 ภูเก็ตใช้วิธีแข่งเป็ดยางระดมทุน โดยประชาสัมพันธ์ให้ร่วมซื้อเป็ดสีเหลืองในสนนราคา 5 ดอลลาห์ต่อตัว จะได้สิทธิ์เข้าแข่งเป็ดยาง เจ้าของเป็ดยางตัวชนะเลิศจะได้เข้าพักโรงแรมในเครือลากูนามูลค่าเฉียดแสนบาท มูลนิธิได้เงิน โรงแรมได้ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายองค์กรสาธารณกุศลได้มีส่วนร่วม แฮปปี้กันทุกฝ่าย

เดินอยู่ในเขตโรงแรมที่ดูเหมือนจะอินเตอร์เหลือเกิน ฝรั่งเดินเข้าออกเป็นว่าเล่น สถานที่หรูหราจนกระทั่งนึกไม่ออกว่าตลอดทั้งชีวิตคนเดินดินกินข้าวแกงธรรมดาๆจะมีโอกาสได้เข้ามาใช้บริการกับเขาสักครั้งได้บ้างหรือเปล่า

ภูเก็ตวันนี้ทุกลมหายใจกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวไปเสียแล้ว

คำอธิบายภาพ : dscf6816_resize เช้าตรู่ พวกเราทยอยเดินออกมา ครู่เดียวก็เต็มที่ล็อบบี้ ผมรู้คร่าวๆว่างานนี้ผู้เข้าร่วมสักราวๆ 40 คน มาจากมูลนิธิชุมชนภูเก็ต มูลนิธิชุมชนโคราช มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิชุมชนสตูลและบางกอกฟอรั่มหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เราพบกันหลายครั้งแล้ว บางคนมีโอกาสได้ไปดูงานที่ต่างประเทศร่วมกันเสียด้วย แม้จะไม่ใช่มิตรสนิทชิดใกล้แต่ต่างก็มีหัวใจเดียวกัน

มาถึงภูเก็ตทั้งทีหลายคนตื่นแต่เช้าออกไปหามื้อเช้านอกโรงแรม สู้อุตส่าห์ตั้งใจกันไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน ทั้งถามหาร้าน ถามเส้นทางที่จะไปจากโรงแรม รวมไปถึงสนนราคา มีคนพูดถึงไม่ขาดปาก ไม่ว่าจะเป็นขนมจีน โรตี หรืออาหารทะเล คนโคราชมาทั้งทีมีหรือจะไม่สนใจ มีของกินชื่อแปลกๆที่ไม่อาจบรรยายให้ได้ลิ้มรส

ผมตื่นสายเพราะว่าเมื่อคืนกลับดึก ขวัญยืนมารับไปร้านหมอนิล เรานั่งดื่มชาคุยกันจนเกือบห้าทุ่ม ตอนเช้าเลยรองท้องด้วยอาหารของโรงแรม

คำอธิบายภาพ : dscf6780 อ.พิชัย ออกไปกับรถตู้ไปรับอ.ชัยวัฒน์ พวกเราที่เหลือถูกต้อนเข้าไปเก็บตัวในห้องสี่เหลี่ยมเย็นฉ่ำ แยกกันนั่งประจำโต๊ะ อ.ปรีชา ในฐานะประธานมูลนิธิชุมชนโคราชทำหน้าที่เจ้าภาพบอกถึงวัตถุประสงค์การชุมนุมคราวนี้ว่าต้องการให้เครือข่าย CF ในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันอย่างต่อเนื่อง โคราชในฐานะพี่ใหญ่(ด้วยเหตุที่ว่าจดทะเบียนเป็นมูลนิธิก่อนใคร) บอกว่าเราต่างคาดหวังถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย ทั้งในส่วนการสร้างอาสาสมัครและการให้

แนะนำตัวกันพอหอมปากหอมคอ ยืนถือไมค์ได้พูดความในใจคนละนิดละหน่อย คุณกุ๊กจากบางกอกฟอรั่มทำหน้าที่ดำเนินการ ก่อนที่จะส่งต่อให้กับคุณชินชัย ชี้เจริญ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่คร่ำหวอดและร่วมกับคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บุกเบิกเรื่องการให้หรือสวัสดิการในประเทศไทย ยืนบรรยายถึงการเป็นองค์กรสาธารณกุศล ฟังแล้วก็ได้ความรู้ดี

คำอธิบายภาพ : dscf6851_resize โดยชี้ให้เห็นหลักคิดสำคัญๆ ในการทำงานมูลนิธิชุมชนของพวกเราว่าทั้งหมดนี้เกิดจากป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ในสังคมเราที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ วงจรชีวิต ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองสิ่งแวดล้อม เหมือนคนสนุกที่จะปีนป่ายไปบนต้นไม้ ทว่าเผลอเมื่อไรก็ตกต้นไม้ลงมาคลุกฝุ่นแขนขาหักได้เมื่อนั้น

ทำอย่างไรเราจึงมีตาข่ายมาขึงรองรับความผิดพลาดพลั้งเผลอในชีวิต?

คุณชินชัยบอกว่า การให้ในปัจจุบันนี้คลี่คลายไปมากแล้ว นิยามการให้ของเขาก็คือ การให้แท้จริงเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข สร้างความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ด้วยความรัก ความเมตตา การให้อภัย หรือให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์

นักการเมืองทั้งหลายอ่านแล้วควรสังวรกันให้เยอะๆ(ฮา)

คุณชินชัยไล่ภาพบุคคลสำคัญๆในประเทศไทยเราที่มีส่วนทำให้เรื่องการให้มีตัวตนในสังคม ที่ไม่น่าเชื่อมากที่สุดก็คือ จอมพลป.พิบูลสงคราม มีใครจะรู้บ้างว่าเป็นนายกคนแรกที่เป็นผู้ก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์แถมยังเป็นอธิบดีกรมคนแรกเสียด้วย เท่ากับเป็นผู้วางรากฐานระบบสวัสดิการ คนต่อมา คือมรว.คึกฤทธ์ ปราโมช ดังระเบิดด้วยนโยบายเงินฝัน อ.ป๋วย เริ่มต้นให้มีอาสาสมัครในประเทศไทย นพ.ประเวศ วะสี นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปสังคม อ.จอน เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการ ส่วนครูชบ ยอดแก้ว พระสุบิน บุกเบิกสวัสดิการชุมชน

โดยสรุปหัวใจของมัน นิยามใหม่ของการให้ในปัจจุบันพัฒนามาสู่ :  ผู้ให้กลายเป็นผู้รับ ผู้รับกลายเป็นผู้ให้

ฟังแล้วซึ้งใจไหมครับ

จากนั้นก็มากล่าวถึงระบบหลักประกันที่มีในประเทศเรา เช่น ระบบสวัสดิการ ที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน, เรามีทำงานในเชิงประชาสงเคราะห์ในรูปแบบขวาใหม่ ใช้เศรษฐกิจนำหรือทุนนิยมนำ หรือทางสายกลาง ทำงานโดยมุ่งแสวงหาผู้ที่เดือดร้อน, เรามีสังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นแนวคิดซ้ายใหม่หรือทางสายที่สาม พยายามให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม, เรามีแนวคิดรัฐสวัสดิการ ให้รัฐเข้ามาดูแล ให้มีประชาสังคมที่เข็มแข็ง

คุณชินชัยใช้คำว่าฐานและขอบเขตของสวัสดิการในประเทศเรา อธิบายเพิ่มเติมไปอีกว่าในปัจจุบัน แนวคิดสวัสดิการมีอยู่ 3 แบบได้แก่ บริการสังคม แนวคิดดังกล่าวรัฐจะทำงานเป็นด้านหลักจัดการเพื่อประโยชน์ของทุกคน เรามีระบบประกันสังคม โดยที่รัฐ ภาคธุรกิจ และผู้เอาประโยชน์ร่วมรับผิดชอบในฐานะผู้ประกันตน เรามีการช่วยเหลือสังคมโดยรัฐ ธุรกิจ องค์กรกุศล ชุมชน และครอบครัวร่วมสร้างสรรค์ดูแลผู้ตกหล่น

และแนวคิดที่แพร่หลายที่สุดในทางการเมืองเรา คือประชานิยม ซึ่งก็มีแยกย่อยในหลายลักษณะ เช่น ประชานิยมแบบดั้งเดิม ที่พยายามเอาใจคนจน ผู้ใช้แรงงาน คนชั้นกลาง มีการเพิ่มสวัสดิการ มีตัวอย่าง ที่ประเทศอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีเปรอง

หรือแนวเสรีนิยม  ตัวอย่างชั้นดีที่เรารู้จัก คือคุณทักษิณ  หรือที่ประเทศเปรู ประเทศอาร์เจนตินา

และแนวชาตินิยม ที่อยู่บนฐานต้านการค้าเสรี พยายามยึดของเอกชนมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะสาธารณูปโภคต่าง ๆนำมาให้สวัสดิการแก่คนจน รัฐจะเข้าไปดูแลปัญหาสังคมยกระดับชุมชนปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพิ่มผลผลิตชาติ ดูแลสิทธิมนุษยชน

ดังมีตัวอย่างที่ประเทศเวเนซูเอลา  ประธานนาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน