สรุปการสัมมนาเครือข่ายมูลนิธิชุมชน

by ชาคริต โภชะเรือง @14 พ.ย. 52 23:18 ( IP : 222...85 ) | Tags : บทความ

การระดมทุนของมูลนิธิชุมชนภูเก็ต

ภูเก็ตใช้วิธีแข่งเป็ดยางระดมทุน โดยประชาสัมพันธ์ให้ร่วมซื้อเป็ดสีเหลืองในสนนราคา 5 ดอลลาห์ต่อตัว จะได้สิทธิ์เข้าแข่งเป็ดยาง เจ้าของเป็ดยางตัวชนะเลิศจะได้เข้าพักโรงแรมในเครือลากูนามูลค่าเฉียดแสนบาท มูลนิธิได้เงิน โรงแรมได้ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายองค์กรสาธารณกุศลได้มีส่วนร่วม แฮปปี้กันทุกฝ่าย

สัมมนาเครือข่ายมูลนิธิชุมชน

งานนี้ผู้เข้าร่วมราว ๆ 40 คน มาจากมูลนิธิชุมชนภูเก็ต มูลนิธิชุมชนโคราช มูลนิธิชุมชนสงขลา มูลนิธิชุมชนสตูลและบางกอกฟอรั่ม

อ.ปรีชา ในฐานะประธานมูลนิธิชุมชนโคราชทำหน้าที่เจ้าภาพบอกถึงวัตถุประสงค์การชุมนุมคราวนี้ว่าต้องการให้เครือข่าย CF ในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันอย่างต่อเนื่อง โคราชในฐานะพี่ใหญ่(ด้วยเหตุที่ว่าจดทะเบียนเป็นมูลนิธิก่อนใคร) บอกว่าเราต่างคาดหวังถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย ทั้งในส่วนการสร้างอาสาสมัครและการให้

คำอธิบายภาพ : dscf6798_resize

คุณชินชัย ชี้เจริญ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่คร่ำหวอดและร่วมกับคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม บุกเบิกเรื่องการให้หรือสวัสดิการในประเทศไทย บรรยายถึงการเป็นองค์กรสาธารณกุศล

โดยชี้ให้เห็นหลักคิดสำคัญๆ ในการทำงานมูลนิธิชุมชนของพวกเราว่าทั้งหมดนี้เกิดจากป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ในสังคมเราที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ วงจรชีวิต ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองสิ่งแวดล้อม

เหมือนคนสนุกที่จะปีนป่ายไปบนต้นไม้ ทว่าเผลอเมื่อไรก็ตกต้นไม้ลงมาคลุกฝุ่นแขนขาหักได้เมื่อนั้น ทำอย่างไรเราจึงมีตาข่ายมาขึงรองรับความผิดพลาดพลั้งเผลอในชีวิต?

คุณชินชัยบอกว่า การให้ในปัจจุบันนี้คลี่คลายไปมากแล้ว นิยามการให้ของเขาก็คือ การให้แท้จริงเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข สร้างความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ด้วยความรัก ความเมตตา การให้อภัย หรือให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์

คุณชินชัยไล่ภาพบุคคลสำคัญๆในประเทศไทยเราที่มีส่วนทำให้เรื่องการให้มีตัวตนในสังคม จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกคนแรกที่เป็นผู้ก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์แถมยังเป็นอธิบดีกรมคนแรกเสียด้วย เท่ากับเป็นผู้วางรากฐานระบบสวัสดิการ คนต่อมา คือมรว.คึกฤทธ์ ปราโมช ดังระเบิดด้วยนโยบายเงินฝัน อ.ป๋วย เริ่มต้นให้มีอาสาสมัครในประเทศไทย นพ.ประเวศ วะสี นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปสังคม อ.จอน เสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการ ส่วนครูชบ ยอดแก้ว พระสุบิน บุกเบิกสวัสดิการชุมชน

คำอธิบายภาพ : dscf6793_resize

โดยสรุปหัวใจของมัน นิยามใหม่ของการให้ในปัจจุบันพัฒนามาสู่ : ผู้ให้กลายเป็นผู้รับ ผู้รับกลายเป็นผู้ให้ ระบบหลักประกันที่มีในประเทศเรา เช่น ระบบสวัสดิการ ที่มีเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน, เรามีทำงานในเชิงประชาสงเคราะห์ในรูปแบบขวาใหม่ ใช้เศรษฐกิจนำหรือทุนนิยมนำ หรือทางสายกลาง ทำงานโดยมุ่งแสวงหาผู้ที่เดือดร้อน, เรามีสังคมสวัสดิการ ซึ่งเป็นแนวคิดซ้ายใหม่หรือทางสายที่สาม พยายามให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม, เรามีแนวคิดรัฐสวัสดิการ ให้รัฐเข้ามาดูแล ให้มีประชาสังคมที่เข็มแข็ง

คุณชินชัยใช้คำว่าฐานและขอบเขตของสวัสดิการในประเทศเรา อธิบายเพิ่มเติมไปอีกว่าในปัจจุบัน แนวคิดสวัสดิการมีอยู่ 3 แบบได้แก่ บริการสังคม แนวคิดดังกล่าวรัฐจะทำงานเป็นด้านหลักจัดการเพื่อประโยชน์ของทุกคน เรามีระบบประกันสังคม โดยที่รัฐ ภาคธุรกิจ และผู้เอาประโยชน์ร่วมรับผิดชอบในฐานะผู้ประกันตน เรามีการช่วยเหลือสังคมโดยรัฐ ธุรกิจ องค์กรกุศล ชุมชน และครอบครัวร่วมสร้างสรรค์ดูแลผู้ตกหล่น

และแนวคิดที่แพร่หลายที่สุดในทางการเมืองเรา คือประชานิยม ซึ่งก็มีแยกย่อยในหลายลักษณะ เช่น ประชานิยมแบบดั้งเดิม ที่พยายามเอาใจคนจน ผู้ใช้แรงงาน คนชั้นกลาง มีการเพิ่มสวัสดิการ มีตัวอย่าง ที่ประเทศอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีเปรอง

หรือแนวเสรีนิยม ตัวอย่างชั้นดีที่เรารู้จัก คือคุณทักษิณ หรือที่ประเทศเปรู ประเทศอาร์เจนตินา และแนวชาตินิยม ที่อยู่บนฐานต้านการค้าเสรี พยายามยึดของเอกชนมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะสาธารณูปโภคต่าง ๆนำมาให้สวัสดิการแก่คนจน รัฐจะเข้าไปดูแลปัญหาสังคมยกระดับชุมชนปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพิ่มผลผลิตชาติ ดูแลสิทธิมนุษยชน

ดังมีตัวอย่างที่ประเทศเวเนซูเอลา ประธานนาธิบดีฮิวโก้ ชาเวซ

**การรวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อสังคมทำได้อย่างไร? ** รัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 64 ระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชนหรือหมู่คณะอื่น

และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 3 เขียนไว้ว่าสมาคม จะจดแจ้งได้ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน และมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 3 คนยื่นจด ในส่วนของมูลนิธินั้น ต้องเงินก่อตั้ง 200,000-500,000 บ.

หากไม่ต้องการเป็นมูลนิธิหรือสมาคมแต่อยากมีสถานะตามกฎหมายรองรับต้องทำอย่างไร และ รัฐมีกฎหมายอะไรให้การส่งเสริมการทำงานของภาคเอกชน ? ให้ขอรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์และองค์กรสวัสดิการชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

รัฐบาลมีมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนอย่างไรบ้าง ?

  • การยอมรับและให้การส่งเสริมสนับสนุน
  • การสนับสนุนงบประมาณ
  • การรับรองมาตรฐาน
  • การเสนอขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  • การดำเนินมาตรการทางภาษี
  • อื่น ๆ

มูลนิธิ สมาคม ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?

๑. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบการในประเทศไทยไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

๒. รายได้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ ได้แก่ รายได้จากการประกอบกิจการ เช่น ค่าเช่า รายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ และรายได้จากทุน เช่น ดอกเบี้ยและเงินปันผล เป็นต้น (ยกเว้น ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้จากสมาชิก เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค หรือการให้โดยเสน่หา เงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนของมูลนิธิหรือสมาคมซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายวาด้วยโรงเรียนเอกชน)

๓. การนำรายได้มาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใด ๆ

อัตราภาษีมูลนิธิ สมาคม?

๑. เงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือกิจการอื่น ๆ ร้อยละ ๒

๒. เงินได้อื่น ๆ เช่น เงินได้จากดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล เป็นต้น ร้อยละ ๑๐

การยกเว้นภาษีมูลนิธิ สมาคม

  • มูลนิธิสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา ๔๗(๗)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

๑. ไมต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ว่าจะมีรายได้จากกิจการใด

๒. ผู้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิสมาคม มีสิทธิ์นำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

หลักเกณฑ์การขอยกเว้น

ข้อ 1 มูลนิธิที่ประสงค์จะขอให้พิจารณาประกาศเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล จะต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีคำขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาเสนอกระทรวงการคลัง

ข้อ 2 วัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อการกุศลสาธารณะในประเทศไทยเท่านั้น และรายได้ของมูลนิธิจะต้องมิใช่เป็นการได้มาจากการซื้อขายหรือการให้บริการโดยมีค่าตอบแทนเป็นปกติธุระ เว้นแต่การซื้อขายหรือการให้บริการนั้นเกี่ยวข้องกับการศาสนา การศึกษา การสถานพยาบาล หรือการสังคมสงเคราะห์ และไม่นำรายได้ดังกล่าวไปจ่ายในทางอื่น

ข้อ 3 ชื่อมูลนิธิจะต้องไม่เป็นชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้า

ข้อ 4 กรมสรรพากรจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธินั้นก่อน เช่น งบดุลและบัญชีรายได้รายจ่าย ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับรองแล้วโดยจะตรวจสอบย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 3 ปี ถ้าปรากฏดังต่อไปนี้จะไม่ประกาศให้

(1) การดำเนินงานของมูลนิธิไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือมีการใช้ชื่อมูลนิธิดำเนินงานเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว

(2) รายได้ของมูลนิธิได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งสิ้นในสามรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา เว้นแต่

(2.1) ตราสารจัดตั้งระบุว่า ให้นำดอกผลมาเป็นรายได้เท่านั้นหรือให้นำดอกผลมาใช้จ่ายเท่านั้น

(2.2) กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเก็บสะสมรายได้เพื่อดำเนินการตามโครงการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

(3) รายจ่ายของมูลนิธิเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 75 ของรายจ่ายทั้งสิ้นในสามรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วมา และรายจ่ายดังกล่าวได้นำไปเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะน้อยกว่าร้อยละ 65 ของรายจ่ายทั้งสิ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

(4) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะของมูลนิธิควรกระจายเป็นการทั่วไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดแจ้งไว้ และต้องมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งที่จะให้ประโยชน์เฉพาะแก่บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่

ข้อ 5 มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นยังไม่ครบ 3 ปี จะไม่พิจารณาประกาศให้

ข้อ 6 องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาใดที่มิได้มีฐานะเป็นมูลนิธิจะไม่พิจารณาประกาศให้ เว้นแต่จะมีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานเช่นเดียวกับมูลนิธิจะพิจารณาประกาศให้เป็นราย ๆ ไป ในหลักเกณฑ์เดียวกันหรือตามที่เห็นสมควร

ข้อ 7 มูลนิธิ องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาใดที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 ถึงข้อ 6 จะไม่ประกาศให้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาเห็นสมควร

ข้อ 8 มูลนิธิ องค์การ สถานพยาบาล หรือสถานศึกษา ที่ได้รับการประกาศให้เป็นองค์การกุศลสาธารณะให้ไปแล้ว เว้นแต่สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และสถานพยาบาล หรือสถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใบรับที่ออกให้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งซึ่งบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้ระบุลำดับที่ได้รับการประกาศด้วย

(2) ส่งรายงานการประชุมใหญ่ งบดุลและบัญชีรายได้รายจ่าย พร้อมทั้งรายงานการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบปีบัญชีที่ผ่านไป ของผู้รับอนุมัติให้กรมสรรพากรทราบภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

ข้อ 9 องค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล หรือสถานศึกษาที่ประกาศไปแล้ว ให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน หากปรากฏว่าผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติที่กำหนดข้างต้น หรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 8 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ก็ให้เพิกถอนการประกาศฯ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่ปีถัดจากปีที่ประกาศเพิกถอนในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

การยกเว้นภาษีที่ผ่านมา

ข้อมูล ณ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ จำนวน ๖๓๒ แห่ง
ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ จำนวน ๖๘๖ แห่ง
ระยะเวลา ๒ ปี เพิ่มขึ้น ๕๔ แห่ง หรือเท่ากับร้อยละ ๓.๑๐ ของมูลนิธิ สมาคมทั้งประเทศ (๒๒,๑๐๙ แห่ง) มูลนิธิ ๑๐,๑๓๒ แห่ง สมาคม ๑๑,๙๗๗ แห่ง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ เห็นชอบในหลักการมาตรการภาษีที่เอื้อต่อการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาในภาพรวมให้เหมาะสมครบถ้วนและเป็นระบบ โดยให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ และนำเรื่องกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

**การดำเนินการในระยะยาว **

๑) ขอจัดตั้งหน่วยงานภายในกรมสรรพากรและขออัตรากำลังเพิ่มจาก ก.พ. เพื่อติดตาม กำกับและตรวจสอบการดำเนินงานขององค์การ สถานสาธารณกุศล วัดและมูลนิธิต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ

๒) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่องค์การเอกชนที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลโดยกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่องค์การ สถานสาธารณกุศลได้รับบริจาคนั้นไม่สามารถนำไปขายต่อหรือให้เช่าหรือนำไปประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้เฉพาะการโอนที่ดินไม่เกินห้าสิบไร่ (เดิมกรมที่ดินให้ความร่วมมือ ก.ส.ค. เก็บค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์แก่องค์การกุศลสาธารณะ เหลืออัตราร้อยละ ๐.๐๑ กรณีโอนที่ดินไม่เกิน ๒๕ ไร่)

๒. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือคนพิการ

๑) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่มีการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และอยู่ในอุปการะของผู้มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

๒) กำหนดให้การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้

๓) กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานหรือส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีสิทธินำเงินค่าจ้างที่จ่ายให้คนพิการมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้เป็นสองเท่าของจำนวนที่จ่ายจริง

๔) กำหนดให้เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะแก่คนพิการมีสิทธินำเงินมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้สองเท่าของจำนวนที่จ่ายจริง

  • กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการเพื่อให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
  • ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงการคลังรับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วยว่า เพื่อให้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานด้านการช่วยเหลือสังคมและคนพิการโดยมาตรการภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่นี้โดยตรงและต่อเนื่อง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
  • คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีมติให้ติดตามการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง

กองทุนด้านสังคมประกอบด้วย

1.กองทุนของภาคประชาชน

  • สหกรณ์/กลุ่มออมทรัพย์
  • กองทุนสวัสดิการชุมชน

2.กองทุนของรัฐ (๑๐๗ กองทุน)

  • กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม, กองทุนคุ้มครองเด็ก,กองทุนผู้สูงอายุ,กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ,กองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  • กองทุนสิ่งแวดล้อม,กองทุนวัฒนธรรม,กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ,กองทุนส่งเสริมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,กองทุนประกันสังคม,กองทุนเงินทดแทน
  • กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

3.กองทุนของภาคเอกชน

  • มูลนิธิ
  • กองทุนรวมใจสงเคราะห์ชุมชน (Community Chest, United Way)
  • มูลนิธิชุมชน (Community Foundation)

แนวคิดการระดมทุน

  • ความหมาย ศิลปะแห่งการทำให้คนให้ในสิ่งที่คุณต้องการ
  • ระดมทรัพยากร

    • เงิน incash
    • สิ่งของ inkind
    • คน inservice

รูปแบบ

  • ระดมเพื่อใคร
  • ระดมทุนจากปัจเจกบุคคล/นิติบุคคล (วันเกิด เคาะประตู กล่อง ขอรับบริจาค สปอนเซอร์)
  • ระดมทุนจากการหารายได้ (สคส. ขายของ บัตรเครดิต)
  • ระดมทุนจากการจัดงาน (แข่งกีฬา งานเลี้ยง)
  • Diaspora Giving
  • รายได้จากภาษี

คำอธิบายภาพ : dscf6805_resize

อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ตั้งคำถาม : มูลนิธิชุมชนเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไร?

มูลนิธิชุมชนสงขลา มีศูนย์สาธารณประโยชน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จุดประกาย โดยมีฐานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาสังคมรองรับ มีกิจกรรมทำงานร่วมกัน จุดเด่นก็คือมูลนิธิชุมชนสามารถละลายกำแพงประสานงานภาคเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำมาสู่การพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

มูลนิธิชุมชนสตูล ผู้เข้าร่วมในกลุ่มเป็นอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงานในชุมชน มูลนิธิมีฐานงานจากการทำงานประชาคมหรือประชารัฐ มีนิด้า/ธนาคารโลก/ประชาสังคมเข้ามาร่วม และทำงานร่วมกันกับโครงการความร่วมมือฯ

มูลนิธิชุมชนโคราช ก่อตัวจากการไล่ทักษิณ ปี 49 นำมาสู่การรวมตัวกัน 32 องค์กร จดทะเบียน

ต้นปี 50 ใช้ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเป็นที่รวมตัว ผู้ให้ข้อมูลในกลุ่ม 2 คนเป็นครูทำกิจกรรม และเป็นนักธุรกิจติดตามการเมือง/สนับสนุนกลุ่มไล่ทักษิณ ทำงานร่วมกับคุณน้องที่เวิร์ลแบงค์ โดยสรุปโคราชมีฐานประชาสังคมรองรับ มีกลุ่ม CSR มาเชื่อมโยงทำกิจกรรม

อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มูลนิธิชุมชนมีชีวิตไปตามลำดับของวงจรชีวิต ได้แก่

  • ระยะที่ 1 สะสมแรงบันดาลใจ
  • ระยะที่ 2 การถือกำเนิด
  • ระยะที่ 3 เริ่มออกเดิน บุกเบิก
  • ระยะที่ 4 เริ่มมีความเข้มแข็งมั่นคง ท่ามกลางพายุใหญ่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
  • ระยะที่ 5 เข้าสู่ระยะเสื่อม

ขอให้ทุกคนได้ตระหนักถึงบทเรียนเหล่านี้ และชี้ให้เห็นว่าพวกเราอยู่ในระยะที่ 2 หรือ 3

ในส่วนจังหวะการเดินจะไปใน 3 ทางเลือก ได้แก่ การระดมทุน การทำกิจกรรม และจังหวะก้าวที่ไปคู่กัน

อ.ชัยวัฒน์ ยังแสดงแผนภูมิแนวคิดการทำงานให้ชุมชนตระหนักรู้ ว่าประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ ฉันอันหมายถึงตัวตน เรา อันหมายถึงความสัมพันธ์ และสิ่ง อันหมายถึงเป้าหมาย? เป็นวัฒนธรรมขององค์กร

คำอธิบายภาพ : dscf6845_resize

และเราจะไปถึงได้อย่างไร?

  1. ต้องมีพื้นฐาน อันได้แก่ วิสัยทัศน์/วิธีคิด ความหมาย? คุณค่า?
  2. กระบวนการ
  3. ผลลัพธ์รูปธรรม

คำถามที่สำคัญในการก้าวต่อไปข้างหน้าของมูลนิธิชุมชนสงขลา?

  • คำถามว่า เราจะสร้างอัตลักษณ์ซึ่งเป็นตัวตนของเรา ในสภาวิกฤต สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ได้อย่างไร?

คำถามที่สำคัญในในการก้าวต่อไปข้างหน้าของมูลนิธิชุมชนสตูล? 1. ทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จักของคนทุกกลุ่ม ทุกระดับ 2.ทำอย่างไรให้ขบวนการขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล 3.มีกระบวนการในการระดมทุนอย่างไร?

คำถามที่สำคัญในในการก้าวต่อไปข้างหน้าของมูลนิธิชุมชนโคราช?

  • เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมในทางสร้างสรรค์

    1. ในสังคมโคราช ใคร/องค์กรใดจะเข้ามามีบทบาทร่วม & เสริมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้มแข็ง
    2. กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วโดนใจ/เชิงรุก(ทำแล้วคนเห็นด้วยจำนวนมาก/ได้เรียนรู้&ยกระดับความคิด/มีส่วนผลักดันสังคมในทางที่ดี)
    3. จะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร?และจะขยายแนวรบอย่างไร?

คำถามที่สำคัญในในการก้าวต่อไปข้างหน้าของบางกอกฟอรั่ม?

  • ทำอย่างไรที่จะให้ชมรมฟ้าใสสามารถเชื่อมประสานกับภาคส่วนอื่นๆที่มีกำลัง เช่น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ วิชาการ เพื่อให้ชมรมมีความมั่นใจและมั่นคงอย่างต่อเนื่องในการทำงาน, ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ชมรมได้รับการยอมรับในการบริหารจัดการ, ในฐานะที่ชมรมเป็นพี่น้องมุสลิมในกรุงเทพฯ จะสามารถได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆในกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง

คำถามที่สำคัญในในการก้าวต่อไปข้างหน้าของมูลนิธิชุมชนภูเก็ต?

  • การสร้าง Branding ของมูลนิธิทำได้อย่างไร?
  • การสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนทำได้อย่างไร?
  • การเปลี่ยนแนวคิดการบริจาคเงินเพื่อทำบุญและการเป็นอาสาสมัครของคนไทยทำได้อย่างไร?
  • การเข้าถึงชุมชนและการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยตนเองทำได้อย่างไร?

คำอธิบายภาพ : dscf6800_resize

คำถามต่อไป : เราจะมั่นคงแข็งแรงไปเพื่ออะไรในท่ามกลางวิกฤต

มูลนิธิชุมชนสงขลาเกิดมาทำอะไร?

  • สร้างความเปลี่ยนแปลง, สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมไปในทางที่ดี มีอัตลักษณ์ สอดคล้องกับวิถีของตน,แทนคุณแผ่นดิน แสวงหา/ความหมาย/คุณค่า, ชุมชนพึ่งตนเองได้, เดินตามจุดแข็งของตนเองหาช่องว่างการพึ่งตนเอง สร้างกระบวนการสติ/ปัญญารองรับการเปลี่ยนแปลง, มีความยั่งยืนต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น, ก้าวไปบนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ “ไม่โค้งคำนับให้กับข้าว 1 ถัง”

สรุป : รู้จักตนเอง มีสำนึกเพื่อสาธารณะ มีวิธีการที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีศักดิ์ศรี มีเพื่อน พัฒนาชีวิต/สังคม/โลกอย่างยั่งยืน

  • Input รู้จักตนเอง และมีสำนึกสาธารณะ
  • Process ศาสตร์และศิลป์อย่างสมดุล มีมิตรร่วมทาง
  • Output ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มีเพื่อน
  • Outcome สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มให้กับทุนของแผ่นดิน

วิสัยทัศน์ : มุ่งมั่นพัฒนา เสริมสร้างวิถีชุมชน คนคือศูนย์กลาง สร้างสรรค์ยั่งยืน เพื่อรักษาแผ่นดิน

แล้วเราจะพัฒนาด้านใดบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมาย?

พัฒนาความรู้เชิงระบบ/เชิงกระบวนการ/การจัดการความรู้ งานบริหารจัดการ งานเครือข่าย 3 ภาคส่วน เศรษฐกิจ/สังคม/การเมือง

มูลนิธิชุมชนโคราชเกิดมาทำอะไร?

  • เพื่อให้องค์กรต่างๆที่มีอยู่แล้ว/กำลังจะมีขึ้น ได้ลุกขึ้นมาทำงาน ทำกิจกรรมที่มีพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สร้างสรรค์/ทำกิจกรรมที่สังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
  • ให้แต่ละองค์กรเกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้าใจในทุกๆด้าน ทุกมิติ

เกิดมาเพื่ออะไร?

  • สร้างสังคมที่ดี/ยุติธรรม/สังคมมีสุข/เข้มแข็งอย่างยั่งยืน/สิ่งแวดล้อมดี/บ้านเมืองสะอาด/ไม่มีคอรัปชั่น/มีความเจริญ/เอื้ออาทร/มีวัฒนธรรม

ทำอย่างไร?

  • คนในมูลนิธิไปผลักดัน/สนับสนุนให้องค์กร/บุคคลไปทำกิจกรรมที่สร้างสิ่งที่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเชื่อมั่น/ต่อเนื่อง
  • สร้างการจัดการมูลนิธิให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างการจัดการความรู้ (KM) ให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

มูลนิธิชุมชนภูเก็ตเกิดมาทำอะไร?

  • เกิดมาเพื่อเติมเต็มให้จังหวัดภูเก็ตน่าอยู่
  • เราจะทำให้องค์กรเข้มแข็ง เป็นที่ไว้วางใจของชุมชน เป็นองค์กรที่ปลอดจากการเมือง ไม่แบ่งศาสนา

สิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อให้บรรลุผล?

  • เป็นตัวกลางในการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบุคคลในชุมชนทุกชุมชน
  • รู้จักชุมชนภูเก็ตเพื่อสามารถเติมเต็มความต้องการของชุมชนนั้นๆ โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง
  • เป็นแหล่งรวมทุนที่เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ
  • เชิญบุคคลระดับผู้นำท้องถิ่นเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ, ที่ปรึกษา

มูลนิธิชุมชนสตูลเกิดมาทำอะไร?

  • ส่งเสริมความรูและสร้างเครือข่ายความปลอดภัย บนความหลากหลายของศาสนา

บางกอกฟอรั่มเกิดมาทำอะไร?

  • เป็นพื้นที่สาธารณะให้ชุมชน/เครือข่าย/ปัจเจก เพื่อร่วมกันพื้นเสน่ห์วิถีชีวิตและมรดกวัฒนธรรมของย่าน ในพื้นที่ต่างๆของกรุงเทพอันคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นคนบางกอก

ต้องพัฒนาในด้าน?

  • ค้นหาพลเมืองจิตอาสาที่สนใจและมีความสามารถในการร่วมพลิกฟื้นมรดกวัฒนธรรม เช่น เมืองเก่า, พื้นที่เกษตร, ชุมชนริมน้ำ
  • ความรู้ในการพลิกฟื้นย่านต่างๆในกรุงเทพฯให้มีชีวิต เช่น ความรู้ในการปรับปรุงบ้านเก่า
  • ทักษะในการระดมทรัพยากร เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเอกลักษณ์ของความเป็นชาวบางกอก
  • ศึกษาดูงานด้านการฟื้นฟู
  • เชื่อมและผลักดันให้เกิดกระแสการฟื้นเมือง เช่น เชื่อมสื่อ, ภาครัฐ, เอกชน
  • เชื่อมช่องทางต่างๆ เพื่อนำเสนอสู่นโยบายเพื่อการฟื้นเมืองให้มีชีวิต เช่น กทม. พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ

คำถามต่อไป : มูลนิธิจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร?

  • การสื่อสารภายใน ด้วยเว็บไซต์ ส่วนกลาง/แต่ละจังหวัด, วิทยุชุมชน,ขยายเครือข่ายหาเพื่อนเพิ่มทั้งบุคคล เครือข่าย
  • การเชื่อมโยงบุคคลที่อยู่ในแต่ละจังหวัด/ย้ายถิ่น ส่งความช่วยเหลือกลับมาช่วยแผ่นดินเกิด
  • ความรู้ในการทำงานมูลนิธิที่หลากหลาย เช่น ความรู้ในการจดทะเบียนก่อตั้ง แลกเปลี่ยนความรู้ในการระดมทุน มีเวทีสัญจร

คำอธิบายภาพ : dscf6851_resize

คำถามสุดท้าย : มาแล้วได้อะไรที่จะกลับไปทำต่อ?

  • มองเห็นว่ามูลนิธิชุมชนอยู่ตรงไหนของระบบแนวคิดของราชการไทย
  • ได้แนวทางการสร้างแบรนด์ของมูลนิธิชุมชน
  • การสานพลัง 3 ภาคส่วน(เศรษฐกิจ/สังคม/การเมือง)จะเป็นจุดคานงัดกับแนวทางเสรีนิยม
  • การนิยามความหมายของชุมชนใหม่บนฐานความเป็นจริงที่เลื่อนไหล/ยืดหยุ่น แสวงหาพลเมืองใหม่ที่มีคุณภาพ
personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน