ความพอเพียงคืออะไร ใครตอบได้

by ชาคริต โภชะเรือง @26 พ.ค. 53 22:17 ( IP : 222...229 ) | Tags : บทความ
photo  , 400x300 pixel , 72,733 bytes.

ความพอเพียงคืออะไร ใครตอบได้

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกพูดถึงกันมานานแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างก็ขานรับว่าเป็นแนวทางที่ประเทศไทยจะต้องนำไปสู่การปฎิบัติ จะมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ว่าผู้นำจะให้น้ำหนักความสำคัญว่ามากน้อยอย่างไร บางยุคสมัยที่เน้นแนวทางทุนเสรี ต้องการกระตุ้นการบริโภค แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอาจจะกลายเป็นวาทกรรมทางเลือก แต่บางยุคที่ผู้นำต้องการสร้างรากฐานความมั่นคงระยะยาว แนวคิดนี้ก็จะถูกชูขึ้นอย่างโดดเด่น

เป็นชุดวาทกรรมการพัฒนาที่ดูเหมือนน้ำกับน้ำมัน เข้ากันได้ยาก

แต่นักการเมืองไทยก็สามารถทำสิ่งที่เหลือเชื่อได้ก็คือ นำแนวคิดดังกล่าวมาสร้างนโยบายประชานิยม แจกเงินลงไปกระตุ้นการบริโภค แล้วก็บอกว่านี่คือความพอเพียง นี่คือชุมชนเข้มแข็ง

วันนี้ผมมีโอกาสได้ชักชวนผู้ใหญ่หลายท่านรวมถึงหน่วยงานราชการมาร่วมพูดคุยถึงการพยายามขยายผลเรื่องความพอเพียงในระดับนโยบายสาธารณะในจังหวัด เพื่อสร้างฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน พบแง่มุมที่น่าสนใจมากมายคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆได้มีโอกาสได้ร่วมรับรู้

ลุงลัภย์ หนูประดิษฐ์ เป็นคนแรกที่ผมอยากแนะนำครับ ลุงลัภย์ทำกลุ่มออมทรัพย์ที่บ้านคลองหวะ อำเภอหาดใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2520 บอกว่าความพอเพียงคือการรู้ตัว รู้จักตนเอง รู้ในสิ่งที่ตนเองทำหรือเป็นอยู่ ลุงลัภย์บอกว่าคนทุกวันนี้ไม่พึ่งตนเอง ไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่รู้ทันความเปลี่ยนแปลง

ลุงลัภย์คือคติประจำตัวในการใช้ชีวิตว่า “เพิ่มทุน ลดหนี้ มีกำลัง ลดโรค” ทุนของลุงลัภย์ไม่ได้หมายความเฉพาะเงิน แต่รวมไปถึงความรู้ ความคิด ต้องมีความพอเพียงด้วย

เริ่มจากกลุ่มออมทรัพย์ คิดแบบนอกกรอบ ไม่รอไม่แบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่พยายามพึ่งตนเอง ช่วยเหลือกันเอง เคล็ดลับง่ายๆของลุงลัภย์ที่พูดเสมอคือ ตั้งกลุ่มออมทรัพย์กันเอง กู้กันเอง

ปัจจุบันลุงลัภย์ช่วยงานของสหกรณ์การเกษตรจนเกิดความเข้มแข็ง สงขลาเรามีสหกรณ์การเกษตร 19 แห่ง แต่ละแห่งมีสมาชิกประมาณ 5000 คน มีเงินหมุนเวียนนับร้อยล้านบาท

คุณชิต สง่ากุลพงศ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ประธานมูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมให้มุมมองว่าในส่วนของภาคเอกชนเองก็ตระหนักถึงคุณค่าของความพอเพียง แต่อาจติดกรอบความรับรู้ในเชิงความหมาย ไม่ต่างจากคนทั่วไปเวลาที่เราพูดถึงการทำเศรษฐกิจพอเพียงว่า ต้องไปอยู่กระท่อม ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุก ทำให้กรอบการมองแคบ ไม่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนเมืองที่ไม่มีพื้นที่การผลิต พึ่งตนเองในเชิงการผลิตปัจจัยรองรับความต้องการ

ช่วงปี 2550 หอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดพิมพ์หนังสือ 100 นักธุรกิจระดับชาติที่มาจากทุกสาขาอาชีพ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่านักธุรกิจที่สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้หรือจริงๆแล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นจริงๆแล้วสอดคล้องกับแนวคิดนี้

ความพอเพียงทำแล้วเราสามารถวัดได้จากความสุข นั่นคือองค์กรต้องมีความสุข คนในองค์กรต้องมีความสุข ลูกค้า คนที่เกี่ยวข้องก็มีความสุข หาใช่กำไรสูงสุดไม่

คุณชิตมองว่าปัจจุบัน หลักสูตรเร่งรัด MBA ทั้งหลายมีส่วนเป็นอย่างมากทำให้นักธุรกิจมองทุกอย่างยึดกำไรเป็นที่ตั้ง หวังประโยชน์สูงสุด ค่านิยมของนักธุรกิจหันไปยกย่องคนมีเงิน ชื่นชมคนมีเงินโดยที่ไม่ได้ดูเบื้องหน้าเบื้องหลัง บางคนเสียสละบริจาคเงินให้สังคมเอาหน้า แต่ตัวเองกลับดูแลธุรกิจแทบไม่รอด

แม้เมื่อมีกระแส CSR การทำธุรกิจเพื่อสังคม ก็เห็นแค่เพียงกลยุทธ์ทางการตลาด หาได้ทำโดยหัวใจจริง พอพูดถึงตัวอย่าง ก็เลยได้ความคิดว่า สงขลาน่าจะค้นหานักธุรกิจที่มีแนวทางของความพอเพียงนำมาให้สังคมได้รับรู้ หรือให้นักธุรกิจด้วยกันได้เกิดความเข้าใจ

คุณไพลินจากพัฒนาชุมชนจังหวัด เล่าว่ากระทรวงมหาดไทย มีนโยบายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทำงานร่วมกับภาคีพัฒนา ได้แบ่งหมู่บ้านเป็น 3 ระดับได้แก่

ระดับพออยู่พอกิน ระดับอยู่ดีกินดี และระดับมั่งมีศรีสุข

ในสงขลาเรามี 1023 หมู่บ้าน เรามีหมู่บ้ารระดับมั่งมีศรีสุขที่ผ่าน 23 ตัวชี้วัดของกระทรวงเพียง 4 หมู่บ้านเท่านั้น ทางพัฒนาชุมชนกำลังจัดทำโครงการหมู่บ้านในฝัน โดยมีแนวทางให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ร่วมกันให้ชุมชนได้จัดทำแผนชุมชน วิเคราะห์ตนเอง ค้นหาปัญหา ศักยภาพ กำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยวางเป้าหมายไว้ 84 หมู่บ้าน ตามจำนวนพัฒนากรและบังเอิญตรงกับวาระ 7 รอบการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ที่จะมาถึง

พัฒนาชุมชนเองก็มีแขนขา กลไกทำงานของตัวเองเช่น ผู้นำอาสา พัฒนากร เยาวชน สตรี กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน กองทุน กขคจ(แก้ปัญหาความยากจน)

ว่าไปแล้ว อสม.ของกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้แนวคิดมาจาก ผู้นำอาสา พัฒนาชุมชนเป็นผู้ริเริ่มเสียด้วยซ้ำ “ระเบิดจากข้างใน” ทำอย่างไรให้ชุมชนแต่ละแห่ง ได้เกิดความตระหนัก เกิดความอยากที่จะแก้ปัญหา ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง...นี่เป็นโจทย์ร่วมของแทบทุกหน่วยงานของราชการ ท้องถิ่น ที่มิใช่ให้เพียงเงินในลักษณะประชาสงเคราะห์ หรือกระตุ้นให้รวมกลุ่มเพื่อรองรับงบประมาณ ไม่พักเอ่ยถึงบทเรียนของชุมชนเข้มแข็งที่ส่วนมาก มักมีกระบวนการ “ระเบิดจากข้างใน” ด้วยตนเอง จากปัญหารุมเร้า จากผู้นำที่เห็นโอกาส แล้วไปชักชวนหน่วยงานลงมาช่วยหนุนเสริม

ลุงลัภย์ ได้เสริมอีกว่า การทำงานใหญ่ เราควรเริ่มจากเล็ก “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละเรื่อง” จะทำอะไรก็ให้ดูพื้นที่ สอดคล้องกับวิถีที่เราเป็นอยู่ มิใช่ถูกกำหนดจากภายนอก “จะปลูกข้าว ก็ให้ดูดิน” ลุงลัภย์ว่า คนสมัยก่อนพูดกันติดปากว่า ใครขายข้าวเดือน 4 จะอับปรีย์จัญไร เนื่องจากขายไปแล้วจะไม่มีเหลือไว้กิน คือเก็บข้าวขึ้นฉางแล้วก็ขาย จะไม่มีเหลือไว้สำหรับปากท้อง

สุดท้าย คุณชิต ได้ให้คาถาหัวใจเศรษฐี ที่เมื่อก่อนคุณชิตท่องอยู่เสมอ จนมาเรียนรู้ความหมายจึงได้เข้าใจว่าคาถานี้มิได้ให้ท่อง แต่มีไว้ให้นำมาสู่การปฎิบัติ นั้นคือ อุ อา กะ สะ

อุ ความหมายก็คือ ความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร อา หมายถึง รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ กะ หมายถึง การรู้จักคบหากัลยาณมิตร สะ หมายถึง การมีความสมดุล มีความพอเพียง

เก็บมาฝากเป็นของกำนัลสำหรับทุกท่านครับ

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน