ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมูลนิธิชุมชนสงขลา
มูลนิธิชุมชนสงขลาในช่วงเริ่มต้นดำเนินงานวางทิศทางการดำเนินงานไว้ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ ร้อยดอกไม้หลากสี
ประกอบด้วยแผนงาน/กิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว
1) แผนที่ทางสังคมจังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 เป็นแผนงานที่มุ่งเน้นการสำรวจศักยภาพ ปัญหา ทุนทางสังคม ความต้องการ สร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของมูลนิธิชุมชนสงขลาร่วมกับภาคีสมาคม/มูลนิธิ/องค์กรสาธารณกุศล ภาคีภาคราชการ ภาคท้องถิ่น ภาคีภาคชุมชนหรือประชาสังคม และภาคีนักธุรกิจหรือภาคเอกชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัด
2) ร่วมกับมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ พัฒนากระบวนการคัดสรรคนดีศรีสงขลา
และแผนงานที่จะดำเนินการต่อไป
1) แผนที่ทางสังคมจังหวัดสงขลา ระยะที่ 2 เป็นแผนงานที่ดำเนินการต่อเนื่องนำผลจากการสำรวจศักยภาพ ความต้องการ ขององค์กรผู้ให้ องค์กรผู้รับการสนับสนุนและองค์กรสนับสนุน ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดสงขลานำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้/สร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน
องค์กรผู้ให้ ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม องค์กรสาธารณะไม่แสวงหากำไรทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ และต่างประเทศ
องค์กรผู้รับ ได้แก่ เครือข่ายเฉพาะกลุ่ม อาทิ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรี แรงงาน ผู้บริโภค, เครือข่ายเชิงประเด็น อาทิ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายการศึกษา เครือข่ายวัฒนธรรม เครือข่ายเกษตรกร ฯลฯ
องค์กรสนับสนุน ได้แก่ เครือข่ายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคราชการ เครือข่ายภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ
2) ร่วมยกย่องเชิดชูบุคคลตัวอย่าง บุคคลต้นแบบ ในพื้นที่จังหวัดสงขลาทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
2.ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ประกอบด้วยแผนงาน
1) แผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จังหวัดสงขลา กำหนดทิศทางในอนาคตหนุนเสริมทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เป็นแผนงานที่เชื่อมประสานทุนทางสังคมทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันโดยใช้ฟื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นตัวตั้งหนุนเสริมการทำงานของภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และมีความยั่งยืน มุ่งหวังผลในระยะสั้น (5 ปี) ระยะกลาง (10 ปี) ระยะยาว (20 ปี)
2) พัฒนาศักยภาพองค์กรภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะองค์กรสาธารณะไม่แสวงหากำไร พัฒนาศักยภาพให้โดยเฉพาะผู้นำที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชุมชน
3.ยุทธศาสตร์ การพึ่งตนเอง
ประกอบด้วยแผนงาน
1) ระดมทุน ด้วยกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ การรับบริจาค กองบุญ การจัดคอนเสิร์ต การจำหน่ายสินค้า ฯลฯ สร้างการมีส่วนร่วมส่งเสริมการให้จากองค์กรภาครัฐในส่วนกลาง ภาครัฐในท้องถิ่น ภาคท้องถิ่น ภาคองค์กรสาธารณะกุศลทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากบุคคลทั่วไป นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนถาวรในอนาคต
2) จัดตั้งเมนูการให้หรือกองทุนย่อย ส่งเสริมการให้ตามความต้องการได้แก่ กองทุนเพื่อการศึกษา กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน กองทุนสิ่งแวดล้อม กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส กองทุนสื่อ กองทุนอุบัติภัย ฯลฯ
4.ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการให้
ประกอบด้วยแผนงาน
1) กระจายทุน โดยมุ่งเน้นการให้ทุนแก่ชุมชน ภาคีองค์กร บนแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดตัวแบบ (Model) การพัฒนา สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นหลักที่จะพัฒนาได้แก่ การศึกษา เด็กและเยาวชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ นอกจากนั้นก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สิทธิมนุษยชน สตรี สื่อสารสาธารณะ ยาเสพติด สตรี แรงงานนอกระบบ ส่งเสริมความดี สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ
5.ยุทธศาสตร์ การจัดการความรู้และมีส่วนร่วมการพัฒนา
ประกอบด้วยแผนงาน
1) สร้างองค์ความรู้การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้วยการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อบริหารจัดการองค์กรสาธารณะไม่แสวงหากำไร
2) จัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน มุ่งเน้นให้เกิดการสรุปบทเรียน ถอดความรู้จากการปฎิบัติไปสู่การค้นหาตัวแบบ(Model) นำไปขยายผลในการพัฒนาที่เหมาะสม
3) การสร้างและพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะ นำตัวแบบที่ดี(Model) มาสู่การผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อร่วมการพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน หรือใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพสร้างและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
6.ยุทธศาสตร์ การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร
ประกอบด้วยแผนงาน
1) การบริหารสำนักงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล เน้นระบบการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
2) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ มุ่งเน้นการสร้างสื่อต่างๆของมูลนิธิ ได้แก่ เว็บไซต์(ภาคภาษาไทย/ภาษาอังกฤษ) แผ่นพับ ไวนิล เผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมผ่านสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ส่วนกลาง
3) ระบบฐานข้อมูลผู้ให้และผู้รับ พัฒนาข้อมูลกลางเพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกันของภาคี
4) สร้างอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสังคม พัฒนาทีมงาน ได้แก่ ทีมสื่อ ทีมการตลาด ทีมการระดมทุนและสร้างอาสาสมัครเพื่อร่วมทำกิจกรรม ส่งเสริมการให้ สร้างจิตสำนึกสาธารณะให้กับเยาวชน ประชาชนทั่วไป