มูลนิธิชุมชนสงขลาสนับสนุนประเพณีกวนข้าวมธุปายาสวัดคลองแห

by ชาคริต โภชะเรือง @3 มี.ค. 53 20:09 ( IP : 222...29 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , กิจกรรม

ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้วที่วัดคลองแหได้มีการรื้อฟื้นประเพณีกวนข้าวมธุปายาส หรือที่ชุมชนเรียกกันว่า "ข้าวยาคู" ปีนี้มูลนิธิชุมชนสงขลาได้มีส่วนร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยคุณชิต สง่ากุึลพงศ์ คุณอรัญ จิตตะเสโณ คุณชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ และคุณชาคริต โภชะเรือง ไปร่วมงานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประเพณีกวนมธุปายาสยาคู เชื่อกันว่าแต่เดิมนั้นกระทำโดยพราหมณ์ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ เพราะพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นทางกลางอิทธิพลพราหมณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อน เมื่อมีพราหมณ์จำนวนมากเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ก็นำเอาพิธีการต่างๆ ซึ่งตนเคยทำมาปฎิบัติต่อไปด้วยความเคยชิน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พิธีการทางศาสนาพราหมณ์บางพิธีนั้นไม่ทำให้เสียหายแก่ผู้ปฎิบัติ กลับทำให้เกิดความศรัทธาในความดีงามและบำรุงกำลังใจ ก็ไม่ทรงห้ามการปฎิบัติกิจเหล่านั้นแต่ประการใด ดังนั้นพุทธศาสนิกชนสมัยหลังๆมา จึงพบว่า ประเพณีพราหมณ์เข้ามาปะปนอยู่ในพุทธศาสนามากจนบางครั้งก็ไม่รู้ว่าในชั้นต้น นั้นเป็นประเพณีอันเนื่องด้วยศาสนาพุทธ หรือศาสนาพราหมณ์กันแน่

ที่มาของประเพณีกวนมธุปายาสยาคูนั้น มีผู้สันนิษฐานต่างกันออกไปเป็น 2 แนว คือ

แนวแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า ประเพณีนี้มีที่มาปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่ง และในคัมภีร์ มโนถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองคัมภีร์มีเนื้อหาตรงกันว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงบุพชาติของ อัญญโกณฑัญญะ ผู้ซึ่งมีความประสงค์อันแน่วแน่ที่จะศึกษาธรรมเพื่อให้บรรลุพระอรหันต์ก่อน ผู้อื่น จุดมุ่งหมายในการแสดงของพระพุทธองค์ ก็เพื่อที่จะให้พระภิกษุได้ฟังพระองค์ได้แสดงว่า เมื่อพระพุทธวิปัตสีอุบัติขึ้นในโลก มีกฏุมพีสองคนพี่น่อง คนพี่ชื่อ มหากาฬ ส่วนคนน้องชื่อว่า จุลกาฬ ทั้งสองทำข้าวสาลีในนาแปลงเดียวกัน เมื่อข้าวกำลังจะออกรวง (ท้อง) จุลกาฬไปในนา เอาท้องข้าวนั้นมากินก็รู้ว่าหวานอร่อยมาก เลยจะเอาข้าวนั้นไปถวายพระภิกษุ จึงไปบอกพี่ชาย พี่ชายไม่เห็นด้วย อ้างว่าไม่มีใครเคยทำ ทำไปก็สูญเสียข้าวไปเปล่าๆ แต่จุลกาฬก็รบเร้าอยู่ทุกวัน จนมหากาฬไม่พอใจมากขึ้นทุกที ในที่สุดก็แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน แบ่งกันคนละส่วน จุลกาฬให้ชาวบ้านช่วยเก็บข้าวของตน ซึ่งกำลังตั้งท้องนั้นไปผ่าแล้วต้มด้วยน้ำนมสด ไม่มีน้ำปะปนเลย ผสมเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น นำไปถวายพระพุทธองค์และพระสาวก โดยอธิษฐานว่า ผลทานนั้นจงเป็นเครื่องให้ตนบรรลุธรรมวิเศษก่อนคนทั้งปวง เมื่อจุลกาฬทำทานแล้วกลับไปดูนา เห็นเต็มไปด้วยข้าวสาลีก็ยินดีเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้นก็ทำบุญในวาระต่างๆอีก รวม 9 ครั้ง จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ทำทานและมีความมุ่งมั่นเช่นเดิมมาตลอด จนในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนพุทธสาวกทั้งปวง จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส น่าจะเนื่องมาจากอรรถกถาที่กล่าวมาแล้วนี้

แนวที่สอง เป็นความเชื่อของชาวนคร ซึ่งเป็นความเชื่อที่เนื่องกับพระพุทธศาสนาเช่นกัน เป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับพุทธประวัติ ตอนที่นางสุชาดา ถวายข้าวมธุปายาส ก่อนอภิสัมโพธิกาล ดังหลักฐานที่ปรากฏในพุทธประวัติเล่ม 1 ปุริมกาล ปริเฉทที่ 5 ตอนหนึ่งว่า

“ในเช้าวันนั้น นางสุชาดา บุตรีกฏุมพีนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ณ ตำบลอุรุเวลา ปรารถนาจะทำการบวงสรวงเทวดา หุงข้าวมธุปายาส คือ ข้าวสุก หุงด้วยน้ำนมโคล้วนเสร็จแล้วจัดลงในถาดทอง นำไปที่โพธิพฤษ์ เห็นพระมหาบุรุษนั่งอยู่ สำคัญว่าเทวดา จึงน้อมข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย ในเวลานั้นบาตรของพระองค์เผอิญอันตรธานหาย พระองค์จึงทรงรับข้าวมธุปายาสนั้นทั้งถาดด้วยพระหัตถ์แล้วทอดพระเนตรแลดูนาง นางทราบพระอาการ จึงทูลถวายทั้งถาดแล้วกลับไป พระมหาบุรุษทรงถือถาดข้าวปายาสเสด็จไปสู่ท่าแห่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงแล้วเสวยข้าวปายาสหมดแล้ว ทรงลอยถาดเสียในกระแส...”

หลังจากพระองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ก็ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในคืนนั้นเอง เหตุนี้ชาวพุทธโดยทั่วไปในเมืองนครจึงเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาสนี่เองที่ส่งผลให้พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงเห็นข้าวมธุปายาสเป็นของดีวิเศษที่บันดาลความสำเร็จได้อย่างเอก เพราะเห็นว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสแล้วทำให้พระองค์เห็นแจ้ง ในธรรม แสดงว่าข้าวมธุปายาสช่วยเพิ่มพูนพลัง จึงก่อให้เกิดปัญญา สมองแจ่มใสปลอดโปร่งเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นได้ว่า ข้าวมธุปายาสก็คือยาขนานวิเศษนั่นเอง

ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้ ประเพณีกวนมธุปายาสยาคูจึงเป็นประเพณีที่ชาวนครปฎิบัติสืบทอดกันมาอย่างแน่นแฟ้น

แต่เดิมนั้นการกวนข้าวมธุปายาส มักจะทำกันในเดือนสิบบ้าง เดือนหกบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ทำกันในวันขึ้น 13 ค่ำ และขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 การกระทำนั้นแต่เดิมใช้ผู้หญิงพราหมณ์และเชื้อพระวงศ์ผู้หญิง ซึ่งเป็นพรมจารี เป็นผู้กวน แต่ต่อมาไม่ได้ยึดถือในเรื่องนี้กันนัก ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวเมืองมักจะหาเครื่องปรุงมาร่วมกันกวนที่วัด แทนที่จะเป็นตามบ้านเรือนของแต่ละคน

ข้าวมธุปายาส (ข้าวยาคู)

สูตรของหมู่ที่ 10 ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง

เครื่องปรุงหรือส่วนผสมสำคัญ

  1. แป้งข้าวเหนียว 4 กก.
  2. แป้งข้าวจ้าว 1 กก.
  3. น้ำตาล 7 กก.
  4. มะพร้าว 50 ลูก
  5. กล้วยน้ำว้า 3-4 หวี
  6. อ้อย(น้ำอ้อย) พอประมาณ
  7. ถั่ว พอประมาณ
  8. งาขาว/งาดำ พอประมาณ
  9. มันเทศสีเหลือง/ม่วง พอประมาณ
  10. ฟักทอง พอประมาณ
  11. น้ำเตยหอม พอประมาณ
  12. น้ำนมข้าว พอประมาณ
  13. นมข้นหวาน 8 กระป๋อง
  14. เกลือ
  15. น้ำมันพืช

วิธีปรุง

  1. คั้นกะทิ แล้วแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนหัวกะทิ กับ ส่วนหางกะทิ
  2. นำหัวกะทิเคี่ยวจนแตกมัน
  3. นำหางกะทิไปต้มกับผักที่หั่นบางๆจนเปื่อย
  4. นำแป้งข้าวจ้าว/แป้งข้าวเหนียว ละลายกับน้ำใบเตย อย่าให้เหลวมาก
  5. นำผักที่ต้มจนเปื่อยมาผสมกับแป้งที่ละลายแล้ว จากนั้นนำไปใส่รวมกับหัวกะทิที่เคี่ยวจนแตกมัน
  6. นำส่วนผสมทั้งหมดเคี่ยวไปเรื่อยๆ อย่าหยุด อย่าให้ไหม้ เคี่ยวไปจนหนืด (ส่วนน้ำมันพืชก็เติมไปเรื่อยๆ ถ้าออกมันแล้วไม่ต้องเติม)
  7. ตักใส่ถาดตั้งไว้ให้เย็น ตักเป็นชิ้นๆนำไปแจกจ่ายรับประทานได้

(ข้อมูลจาก ป้าอ่ำ กลิ่นเขียว ชาวบ้าน หมู่ที่ 10 ตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง)

ข้าวมธุปายาส (ข้าวยาคู)

สูตรของวัดชายนา ตำบลนา จังหวัดนครศรีธรรมราช

เครื่องปรุง

  1. น้ำนมข้าว
  2. ทุเรียนสด
  3. นม
  4. ขนุน
  5. องุ่น
  6. น้ำตาลทราย
  7. น้ำผึ้งรวง
  8. กล้วย
  9. เผือก
  10. มัน
  11. มะตูม
  12. ขนมพอง
  13. มังคุด
  14. ละมุด
  15. ฟักทอง
  16. ข้าวโพด
  17. อินทผลัม
  18. มะละกอ
  19. ทุเรียนกวน
  20. หอม
  21. กระเทียมเจียว
  22. น้ำมันมะพร้าว
  23. ข้าวเม่า
  24. แป้งมันสำปะหลัง
  25. แป้งหมี่
  26. จำปาดะ
  27. น้ำอ้อย
  28. ข้าวตอก
  29. ขนมลา
  30. ข้าวอ่อน (ท้องข้าว)
  31. น้ำตาลขัณฑสกร
  32. แป้งข้าวจ้าว 1.5 กก.
  33. แป้งข้าวเหนียว 10 กก.
  34. น้ำมันบัว
  35. กะทิ
  36. พริกไทย
  37. ผักชี
  38. สาคูวิลาด
  39. น้ำตาลกรวด
  40. พุทรา
  41. ส้มแป้น
  42. ข้าวโพดอ่อน (เอาเฉพาะเมล็ดมาหั่นละเอียด)
  43. ราทั้งห้า (ยกเว้นราดำ เพราะมีกลิ่นฉุนมาก)
  44. น้ำบัวบก
  45. ถั่วลิสงคั่ว
  46. ลูกจัน
  47. ดอกจัน
  48. พริกไทยล่อน (เมล็ดสีขาว)
  49. ลูกกระวาน
  50. กานพลู
  51. ข้าวฟ่าง
  52. อบเชย
  53. โป๊ยกั๊ก
  54. ชะเอม
  55. โกศทั้งห้า
  56. ดีปลีเชือก
  57. ขิงแห้ง
  58. หัวเปราะ
  59. หัวกะชาย

หมายเหตุ น้ำนมข้าว ได้จากข้าวที่รวงยังไม่แก่ กำลังมีน้ำนม นำข้าวนั้นมาตำทั้งเมล็ดโดยที่ยังมีเปลือกหุ้มอยู่ เมื่อตำแล้วก็คั้นเอาน้ำของข้าว ซึ่งเรียกกันว่า “น้ำนม” น้ำนมข้าว เป็นเครื่องปรุงที่สำคัญที่สุด ในการกวนข้าวมธุปายาส(ยาคู) ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้

(เครื่องปรุงที่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นไปตามสภาพท้องถิ่นและฤดูกาลของพืชผลเป็นสำคัญ)

วิธีกวนข้าวมธุปายาส (ยาคู)

  1. นำน้ำนมข้าว และเครื่องปรุงต่างๆพร้อมทั้งกะทิใส่ลงไปในกระทะขนาดใหญ่
  2. ใส่น้ำตาลและใส่เครื่องปรุงอื่นๆทั้งหมดลงไป (ยกเว้นเครื่องรา และโกศซึ่งบดละเอียดแล้ว ไม่ได้ผสมในตอนนี้ เก็บไว้โรยตอนที่กวนแล้วเสร็จ)
  3. นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้ว แบ่งใส่กระทะที่เตรียมไว้บนเตา (กระทะใบบัว)
  4. กวนไปเรื่อยๆจนขนมค่อยๆหนืด เมื่อกวนไม่ไหวแล้วให้เติมน้ำมันพืชลงไป เพื่อให้น้ำมันไปทำให้ขนมแยกตัวออกไม่เกาะกระทะและพาย
  5. เมื่อกวนได้ที่แล้วก็โรยเครื่องรา โกศ และเครื่องยาทั้งหลายที่บดกันเข้าอย่างละเอียดแล้วนั้นลงไปในกระทะ เป็นอันว่ามธุปายาสพร้อมที่จะบริโภคได้

(ข้อมูลจาก คุณเศรษฐา เพ็ชรสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแค จังหวัดพัทลุง)

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน